ม.อุบลฯ ลงพื้นที่เก็บข้อมูลตลาดสด สร้างต้นแบบตลาดอาหารปลอดภัย
วันที่ 26 กรกฎาคม 2562 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมทุนเพื่อดำเนินโครงการ “นวัตกรรมและเทคโนโลยีแปรรูปอาหารปลอดภัยครบวงจร” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และหัวหน้าโครงการและ ดร.จริยาภรณ์ อุ่นวงษ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย บริการวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นผู้บริหารโครงการ
มีการจัดสรรทุนวิจัยแบบบูรณาการในประเด็น “ห่วงโซ่คุณค่าสำหรับการบริหารจัดการตลาดสด” จำนวน 8 โครงการ เริ่มดำเนินตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 ในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลในตลาดเทศบาล 3 และตลาดดอนกลาง และสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาตลาด เพื่อให้ตลาดทั้ง 2 แห่ง เป็นต้นแบบตลาดอาหารปลอดภัยของจังหวัดอุบลราชธานี ตามแผนการดำเนินงานรอบ 6 เดือน โดยโครงการกำหนดให้มีเวทีคืนข้อมูล เพื่อคืนข้อมูลที่ได้จากการแจกแบบสอบถาม สัมภาษณ์ และสังเกตการณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในชุมชนของโครงการวิจัย รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นของผู้ค้า ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นและแนวทางในการพัฒนาตลาดในระยะต่อไป
จากการลงพื้นที่สอบถาม และสัมภาษณ์ข้อมูลของนักวิจัย ณ ตลาดเทศบาล 3 ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี สามารถสรุปข้อมูลได้ดังนี้ สถานการณ์ตลาดตามเกณฑ์ประเมินตลาดสดน่าซื้อ พบว่า
1. โครงสร้างและสถานที่ตั้งของตลาดและแผงขาย ต้องปรับปรุง
2. เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ ต้องปรับปรุง
3. การควบคุมคุณภาพแผงขาย อยู่ในระดับ พอใช้
4. การสุขาภิบาล อยู่ในระดับ พอใช้
5. การบำรุงรักษาและทำความสะอาดของตลาด ต้องปรับปรุง และ
6. บุคลากร และสุขลักษณะผู้ปฏิบัติงาน อยู่ในระดับ พอใช้
ข้อมูลทั่วไปของลูกค้า พบว่า ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 71.9 อายุ 41 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 74.3 สถานภาพสมรสและมีบุตร คิดเป็นร้อย 57.5 พฤติกรรมลูกค้า พบว่า ส่วนใหญ่สินค้าที่ซื้อ คือ ผักสด และผลไม้ คิดเป็นร้อย 38.2 ช่วงเวลาที่มาใช้บริการ คือ 05.01-10.00 น. คิดเป็นร้อยละ 92.3 และระยะเวลาในการใช้บริการไม่ถึง 1 ชั่วโมง คิดเป็นร้อยละ 88.9
ปัจจัยทางการตลาดที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้า พบว่า ใส่ใจสุขภาพและเลือกอาหารอย่างระมัดระวัง เป็นประเด็นที่ลูกค้าให้ความสนใจมากที่สุด รองลงมา คือ ให้ความสำคัญเรื่องความสะอาดและความปลอดภัยของอาหาร และกลยุทธ์ในการพัฒนาตลาด คือ ตลาดท่องเที่ยวอาหารปลอดภัย จังหวัดอุบลราชธานี
สำหรับตลาดดอนกลาง ตำบลขามใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี สามารถสรุปข้อมูลได้ ดังนี้สถานการณ์ตลาดตามเกณฑ์ประเมินตลาดสดน่าซื้อ พบว่า
1. โครงสร้างและสถานที่ตั้งของตลาดและแผงขาย อยู่ในระดับ ปานกลาง
2. เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ ต้องปรับปรุง
3. การควบคุมคุณภาพแผงขาย อยู่ในระดับ พอใช้
4. การสุขาภิบาล อยู่ในระดับ พอใช้
5. การบำรุงรักษาและทำความสะอาดของตลาด อยู่ในระดับ ปานกลาง และ
6. บุคลากร และสุขลักษณะผู้ปฏิบัติงาน ต้องปรับปรุง
ข้อมูลทั่วไปของลูกค้า พบว่า ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 67.9 อายุ 20-30 ปี คิดเป็นร้อยละ 28.6 สถานภาพ โสด สมรสและมีบุตร คิดเป็นร้อย 45.5 พฤติกรรมลูกค้า พบว่า ส่วนใหญ่สินค้าที่ซื้อ คือ ผักสด ผลไม้ และอาหารสำเร็จรูป คิดเป็นร้อย 20.9 ช่วงเวลาที่มาใช้บริการ คือ 18.00-20.00 น. คิดเป็นร้อยละ 46.8 และระยะเวลาในการใช้บริการ 30 นาที-1 ชั่วโมง คิดเป็นร้อยละ 57.4
ปัจจัยทางการตลาดที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้า พบว่า ใส่ใจสุขภาพและเลือกอาหารอย่างระมัดระวัง เป็นประเด็นที่ลูกค้าให้ความสนใจมากที่สุด รองลงมา คือ ให้ความสำคัญเรื่องความสะอาดและความปลอดภัยของอาหาร และกลยุทธ์ในการพัฒนาตลาด คือ Home Market
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว