สัปดาห์วิทยาศาสตร์ “วันนวัตกรรมการสอน นวัตกรและนักวิทยาศาสตร์”
วันที่ 15 สิงหาคม 2562 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัด “งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2562” ในระหว่างวันที่ 15 – 16 สิงหาคม 2562 ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ภายใต้โครงการ “วันนวัตกรรมการสอน นวัตกรและนักวิทยาศาสตร์” ที่มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ และแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นประธานพิธีเปิดและอัญเชิญพระบรมสาทิศลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเปิดกรวยถวายสักการะพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้เข้าร่วมพิธียืนถวายสักการะโดยพร้อมเพรียงกัน โดยมีนายศุภกิตติ์ คำมณี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นผู้แทนนักศึกษากล่าวสดุดีเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชริดา ปุกหุต คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์การจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ประจำปี 2562 ครั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทการพัฒนาประเทศ ที่อยู่ในยุคการพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว และเพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และพระอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ ๔ ที่ทรงเป็นแบบอย่างนักวิทยาศาสตร์ อันจะเป็นการส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชนทั่วไป ตระหนักถึงความสำคัญและบทบาทของวิทยาศาสตร์ต่อการดำรงชีวิต และเป็นการพัฒนาประเทศ
จากนั้นเป็นการมอบรางวัลเชิดชูเกียรตินักวิจัยดีเด่น ได้แก่
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริวัฒน์ ระดาบุตร ได้รับรางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่น
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุทธินาถ หนูทองแก้ว ได้รับรางวัลนักวิจัยที่มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติดีเด่น
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปุริม จารุจำรัส ได้รับรางวัลผลงานวิจัยที่จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาดีเด่นผลงานอนุสิทธิบัตร ชุด ทดสอบแมกนีเซียมภาคสนามในน้ำยางพารา
- ดร.ศันสนีย์ ศรีจันทร์ นายอนุพงษ์ รัฐิรมย์ และ
- นายกรวิช แก้วดี ได้รับรางวัลผลงานวิจัยที่ตอบสนองความต้องการของชุมชนดีเด่น ผลงานวิจัย “เครื่องผสมน้ำกรดฟอร์มิกแบบอัตโนมัติ”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชริดา ปุกหุต คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า สำหรับวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ เป็นวันสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 4 ในฐานะที่ทรงได้รับการยกย่องเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ของการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันได้มีความเจริญรุดหน้าไปอย่างมาก
สำหรับการจัดโครงการครั้งนี้ ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการยกระดับการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในศตวรรษที่ 21 ในการส่งเสริมความสามารถพิเศษของเรียน เพื่อเป็นนักนวัตกร นักวิทยาศาสตร์ในอนาคตต่อไป
ดร.สุรสิทธิ์ สุทธิคำภา รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และผู้รับผิดชอบโครงการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานปีนี้ ภายในงานมุ่งเน้นการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับนวัตกรรมด้านอินเตอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง (IoT) อาทิ สมาร์ทฟาร์ม นวัตกรรมเพื่อผู้สูงวัย และนวัตกรรมด้านการเรียนการสอน ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับรางวัลจากเวทีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผลงานอนุสิทธิบัตร เพื่อการเกษตร เครื่องผสมกรดฟอร์มิก เพื่อชาวสวนยาง
ภายในงานยังมีการแข่งขันทางวิชาการ การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ การประกวดคลิป VDO การแข่งขันความสามารถในการแก้ปัญหา และการแข่งขันตอบปัญหาทางวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นการคัดเลือกผู้แทนภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าร่วมการแข่งขันในระดับประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของทางคณะในการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีให้แก่นักเรียนในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มทักษะปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีห้องเรียนพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งทางคณะยังได้รับความไว้วางใจให้เป็นศูนย์วิชาการ เพื่อพัฒนานักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษหลายด้าน และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์โอลิมปิกวิชาการ สอวน. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จากมูลนิธิ สอวน.ห้องเรียน วมว. ศูนย์ประสานงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศูนย์ประสานงาน ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการ Coding at School; powered by KidBright เพื่อจัดสรรบอร์ด KidBright ให้แก่โรงเรียน 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การประกวดและการแข่งขันทางวิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย เป็นต้น
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว