ม.อุบลฯ เดินสายถ่ายทอดความรู้ วัยรุ่นไทยยุคดิจิทัล รู้เท่าทันเทคโนโลยี
วันที่ 26 สิงหาคม 2562 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ลงพื้นที่บริการวิชาการและถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีโรงเรียนเครือข่าย ในการอบรมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “วัยรุ่นไทยยุคดิจิทัล รู้เท่าทันเทคโนโลยี” ให้แก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จำนวน 600 คน จัดขึ้นโดย เครือข่ายผู้ปกครองนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ร่วมกับ ฝ่ายแนะแนวโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช ภายใต้โครงการ “ส่งเสริมพหุปัญญา รู้คุณค่าแห่งตน ยุค Thailand 4.0” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐ์ ดิษเจริญ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและ ดร.สมปอง เวฬุวนาธร อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นวิทยากรพร้อมนักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรวิทยาศาสตร์ศึกษา สาขาวิทยาศาสตร์ศึกษา (วิชาเอกคอมพิวเตอร์) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำนวน 3 คน เป็นผู้ช่วยวิทยากร
ในช่วงเช้าเป็นกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ ได้รับเกียรติจาก นายชาตรี ตั้งมิตรประชา ผู้จัดการบริษัท โฮมฮับ จำกัด เป็นวิทยากรให้ความรู้ หัวข้อ “การพัฒนาทักษะชีวิตด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม” นพ.เพียรศักดิ์ แซ่หว่อง กุมารแพทย์ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ให้เกียรติเป็นวิทยากร หัวข้อ “ทักษะชีวิตกับความท้าทายในอนาคต/หน้าต่างความดีงาม ตามแบบไทยแลนด์ 4.0” ณ ห้องประชุมเบญจาณุสรณ์ โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จังหวัดอุบลราชธานี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐ์ ดิษเจริญ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า สำหรับการลงพื้นที่ให้บริการวิชาการและถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่โรงเรียนเครือข่ายโดยรอบมหาวิทยาลัยครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งพันธกิจที่ทางคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีดำเนินการและให้บริการอย่างต่อเนื่อง ในการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่นำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และการบริการวิชาการอย่างมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
ในการลงพื้นที่โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราชวันนี้ ทางคณะได้รับให้ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยี ภายใต้หัวข้อ “วัยรุ่นไทยยุคดิจิทัล รู้เท่าทันเทคโนโลยี” โดยการนำความรู้ด้านการนำเทคโนโลยีออกเมนเต็ดเรียลลิตี (Augmented Reality) หรือ AR 3มิติ ประกอบด้วย เกมคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ตารางธาตุเคมี แมลงใกล้สูญพันธุ์ และเทคโนโลยีเวอชวลเรียลลิตี (Virtual reality) หรือ VR ห้องปฏิบัติการประกอบคอมพิวเตอร์เสมือนจริง เกมเรียนรู้โลก และดวงดาวในห้องปฏิบัติการดาราศาสตร์เสมือนจริง ตลอดจนเทคโนโลยีการสื่อสารและนวัตกรรมในยุค5G ประกอบด้วย เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) และการสื่อสารยุค 5G ที่นำมาสร้างนวัตกรรมใหม่แบบ IoT เช่น ระบบติดตามเด็ก ติดตามผู้สูงอายุ ติดตามสัตว์เลี้ยง ติดตามรถหรือทรัพย์สิน ระบบแจ้งเตือนปริมาณน้ำ มิเตอร์น้ำอัจฉริยะ มิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ ฟาร์มอัจฉริยะ ระบบแจ้งเตือนปวก หมวกนิรภัยวัดชีพจร ระบบจองที่จอดรถอัตโนมัติ อุปกรณ์แจ้งเตือนวัวเป็นสัด เป็นต้น ซึ่งสร้างความตื้นเต้นและประทับใจ ให้แก่น้อง ๆ นักเรียนที่เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้เป็นอย่างมาก
ทางคณะต้องขอบคุณเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และ ฝ่ายแนะแนวโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช ที่ได้เร่งเห็นความสำคัญและประโยชน์ของเทคโนโลยีเพื่อให้นักเรียนได้เข้าใจถึงความถนัดและคุณค่าในการเลือกกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของตนเอง ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เรียนวางแผนการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสม เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดีและมีความสุขในการเรียนในอนาคตต่อไป
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว