อุบลฯ เริ่มแล้ว!! ให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้าน เพื่อลดความแออัด
วันที่ 1 ตุลาคม 2562 นายแพทย์สุวิทย์ โรจนศักดิ์โสธร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการลดความแออัดในโรงพยาบาลด้วยร้านยาแผนปัจจุบัน โดยให้ผู้ป่วยมารับยาที่ร้านขายยาแผนปัจจุบันประเภทที่ 1 ใกล้บ้าน
นายแพทย์สุวิทย์ โรจนศักดิ์โสธร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายลดความแออัดของโรงพยาบาล สังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพิ่มความสะดวกบริการประชาชน ให้ร้านยาเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการจ่ายยาให้ผู้ป่วยใกล้บ้าน ลดการเดินทาง รวมทั้งผู้ป่วยจะได้ยามีคุณภาพมาตรฐาน ปลอดภัย ไม่ต้องรอนาน ได้รับคำแนะนำการใช้ยาอย่างเหมาะสมตามใบสั่งแพทย์โดยเภสัชกร ซึ่งเริ่มดำเนินการ 1 ตุลาคม 2562 นั้น
แนวทางการดำเนินงาน คือ ให้ผู้ป่วยนำใบสั่งยารับยาที่ร้านยาแผนปัจจุบัน (ข.ย.1) ที่ได้มาตรฐาน GPP ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีการพัฒนาระบบบริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และมีสภาวิชาชีพเป็นผู้กำกับคุณภาพบริการร้านยา ซึ่งจะเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ยา และลดการครอบครองยาเกินความจำเป็น
โดยร้านยาจะต้องจ่ายยาตามใบสั่ง และคำแนะนำจากแพทย์ พร้อมให้เภสัชกรติดตามผลการรักษา เช่น ความดัน หรือ ระดับน้ำตาลในเลือดผู้ป่วย เป็นต้น หากพบผู้ป่วยมีความเสี่ยงให้ส่งตัวมาโรงพยาบาล พร้อมกับรายงานข้อมูลการเข้ารับยาของผู้ป่วยตามระบบของโรงพยาบาล โดยเบื้องต้นจะเน้นใน 4 กลุ่มโรคได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคทางจิตเวช และหอบหืด
ในระยะแรก จังหวัดอุบลราชธานีจะดำเนินการพัฒนาระบบบริการ ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และจะเริ่มในโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ มีร้านขายยาร่วมเป็นเครือข่ายบริการจำนวน 5 แห่ง ได้แก่
- ชัยวิตร์เภสัช,
- สุดารัตน์เภสัช,
- เสน่ห์เภสัช,
- มิสเตอร์เภสัช สาขาชยางกูร
- มิสเตอร์เภสัช สาขาอุบล-ตระการฯ
สำหรับเงื่อนไขการรับยา ต้องเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ป่วย ที่จะรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน หรือใกล้ที่ทำงาน ซึ่งเป็นร้านยาที่ผ่านมาตรฐาน GPP และมีเภสัชกรปฏิบัติงานตลอดไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง โดยจะได้รับยาชนิดเดียวกับที่ได้รับจากโรงพยาบาลเดิมที่รับยาอยู่ ผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าบริการใดๆ เพิ่มขึ้น และได้รับความปลอดภัยในการใช้ยา ตลอดจนได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเพิ่มความปลอดภัยในการใช้ยา และลดการครอบครองยาเกินความจำเป็น
นายแพทย์สุวิทย์ กล่าวต่อไปว่า ผู้ป่วยสามารถรับยาตามใบสั่งแพทย์ที่ร้านยาเครือข่ายใกล้บ้าน ที่เข้าร่วมโครงการ ภายหลังจากที่ได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์ที่โรงพยาบาลแล้ว ซึ่งรูปแบบการบริหารจัดการแบ่งเป็น 3 ทางเลือก คือ
1. คือโรงพยาบาลเป็นผู้จัดยารายบุคคลและส่งยาไปที่ร้านยาเครือข่ายในโครงการเพื่อจ่ายยาให้กับผู้ป่วย
2. โรงพยาบาลนำยาไปสำรองไว้ที่ร้านยาเครือข่ายในโครงการ ให้เภสัชกรร้านยาเป็นผู้จัดยาตามใบสั่งแพทย์ เสมือนเป็นห้องจ่ายยาย่อยของโรงพยาบาล และ
3. ให้ร้านยาเป็นผู้จัดซื้อยาและสำรองยาในการจ่ายยาให้กับผู้ป่วยเอง โดยโรงพยาบาลเป็นผู้ตามจ่ายค่ายา
สำหรับในส่วนของค่าบริหารจัดการยาไปยังร้านยานั้น มีการพัฒนาระบบบริการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และมีสภาวิชาชีพเป็นผู้กำกับคุณภาพบริการร้านยา โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพ หรือ สปสช.เป็นหน่วยจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการเฉพาะ เพื่อไม่ให้เกิดภาระกับโรงพยาบาลและร้านยาที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมดนี้ ทุกฝ่ายร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อ จุดหมายร่วมกัน คือ ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสม ปลอดภัย รวดเร็ว