guideubon

 

อุบลฯ จัดงานเชิดชูเกียรติและรำลึก หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา

หม่อมเจียงคำ-ชุมพล-ณ-อยูธยา-02.jpg

วันที่ 20 ตุลาคม 2562 นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานงานวันเชิดชูเกียรติและรำลึก หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ประจำปี 2562 (ปีที่ 12) ณ ลานหม่อมเจียงคำ วัดสุทัศนาราม ต.ในเมือง อ.เมือง อุบลราชธานี พร้อมมอบรางวัล "หม่อมเจียงคำ" แก่ผู้มีจิตอาสา ทำความดีแก่แผ่นดิน จำนวน 5 ท่าน

หม่อมเจียงคำ-ชุมพล-ณ-อยูธยา-01.jpg

ประวัติ หม่อมเจียงคํา ชุมพล ณ อยุธยา

ท่านกําเนิดในตําบลในเมือง อําเภอเมืองอุบลราชธานี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม 2422 ตรงกับ วัน 5 เดือนอ้าย แรม 6 ค่ำ ปีเถาะ เอกศก จุลศักราช 1241 (ร.ศ.98) เป็นธิดาลำดับที่ 9 ของท้าวสุรินทร์ชมภู (หมั้น) กับนางดวงจันทร์ (ธิดา พระศรีโสภา กับ นางทุมมา) มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ดังนี้

1. นางก้อนคํา สมรสกับ รองอํามาตย์โท พระอุบลการประชานิตย์ (บุญชู พรหมวงศานนท์) อดีตข้าหลวงบริเวณอุบลราชธานี พ.ศ.2450

2. นางอบมา สมรสกับ ท้าววรกิติกา (คูณ) กรมการเมืองผู้ใหญ่อุบลราชธานี

3. นางจันทรา สมรสกับ พระอุบลศักดิ์ประชาบาล (กุคํา สุวรรณกูฏ) อดีตข้าหลวงประจําเมืองยโสธร พ.ศ.2434

4. นางเหมือนตา สมรสกับ ท้าวฮวย ศรีสมบูรณ์

5. นางบุญอุ้ม สมรสกับ ท้าวอักษรสุวรรณ (หนู อินทรีย์) อดีตนายอําเภออุตรูปลนิคม (ปัจจุบันคือ อำเภอม่วงสามสิบ)

6. นางหล้า สมรสกับ ท้าวหนู มงคลศิลป์

7. นางดวงคํา สมรสกับ ขุนราชพิตรพิทักษ์ (ทองดี หิริญภัทร์)

8. พระโกญทัญโญ (ท่านคําม้าว บุตโรบล) เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดสารพัดนึก (ปัจจุบันคือ วัดสารพัฒนึก) ตําบลในเมือง อําเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

9. หม่อมเจียงคํา ชุมพล ณ อยุธยา หม่อมห้ามใน พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์

หม่อมเจียงคำ-ชุมพล-ณ-อยูธยา-03.jpg

ระหว่างเดือนมีนาคม พ.ศ.2436 (ร.ศ.112) พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ทรงทอดพระเนตรเห็นนางเจียงคำ ซึ่งเป็นธิดาท้าวสุรินทร์ชมภู และเป็นหลานปู่ราชบุตร (สุ่ย) ราชบุตรเมืองอุบลราชธานี ทรงพอพระทัย จึงทรงขอนางเจียงคำ มาเป็นหม่อมห้าม ต่อนางแก้วพาและนางก้อนคํา ผู้เป็นป้าผู้ใหญ่ในวงศ์ญาติ (เพราะท้าวสุรินทร์ชมภูและนางดวงจันทร์ ได้สิ้นบุญไปแล้วทั้ง 2 คน)

นางแก้วพา นางก้อนคํา พร้อมด้วยญาติผู้ใหญ่ มีพระอุบลศักดิ์ประชาบาล และรองอํามาตย์โท พระอุบลการประชานิตย์ มีความยินดี จึงนำนางเจียงคำ ผู้เป็นหลานสาว ถวายเสด็จในกรมฯ ตามพระประสงค์ และทําพิธีบายศรีสู่ขวัญตามจารีตประเพณีบ้านเมืองดั้งเดิม ถวายให้เป็นหม่อมห้าม ในพลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ในเดือน 4 (นับตามจันทรคติ) ต่อมาทรงมีโอรส 2 องค์ คือ

1. หม่อมเจ้าอุปลีสาณ ชุมพล

2. หม่อมเจ้ากมลีสาณ ชุมพล โดย ม.จ.กมลีสาณ ชุมพล เมื่อยังทรงเยาว์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เมื่อครั้งดํารงพระยศเป็น เจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ทรงขอเป็นราชบุตรบุญธรรม

หม่อมเจียงคำ-ชุมพล-ณ-อยูธยา-04.jpg

หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา เป็นผู้เสียสละ มีความกตัญญูกตเวที บำเพ็ญประโยชน์ ในด้านการรวบรวม อุทิศทรัพย์สินที่เป็นที่ดินอันเป็นมรดกตกทอดและของคณะญาติ โดยตกลงกันเป็นเอกฉันท์ว่า ยกให้เป็นสาธารณประโยชน์แก่แผ่นดินเพื่อเป็นอนุสรณ์ โดยไม่คิดค่าตอบแทนแต่อย่างใด ซึ่งปัจจุบันที่ดินดังกล่าว เป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการที่สําคัญ ในจังหวัดอุบลราชธานี ดังนี้

1. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี

2. เทศบาลนครอุบลราชธานี 3. ทุ่งศรีเมืองและโรงเรียนอนุบาลอุบลราชธานี

4. ศาลจังหวัดอุบลราชธานี และบ้านพักข้าราชการตุลาการ

5. ที่ว่าการอําเภอเมืองอุบลราชธานี

6. ที่ตั้งเดิมของโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช และที่ตั้งเดิมของศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี

7. โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ซึ่งหม่อมเจ้าชายทั้ง 2 องค์ ผู้เป็นบุตร ได้ประทานที่ดินจํานวน 27 ไร่ ที่ตกทอดมาเป็นมรดกให้แก่ทางราชการ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่เสด็จพ่อและหม่อมแม่ เมื่อ พ.ศ.2474

 หม่อมเจียงคำ-ชุมพล-ณ-อยูธยา-06.jpg

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าเพื่อรับพระราชทาน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ครั้งแรก สําหรับฝ่ายใน ซึ่งเป็นชั้นที่ 3 คือ ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.) จากพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2454 ซึ่งเป็นปีที่ 2 ในรัชกาล

ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2455 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าเพื่อรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าฝ่ายใน (ท.จ.) จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2455 ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นปีที่ 3 ในรัชกาล

หม่อมเจียงคำ-ชุมพล-ณ-อยูธยา-07.jpg

บั้นปลายชีวิต

หลังจากการสิ้นพระชนม์ของ พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ หม่อมเจียงคํา ชุมพล ณ อยุธยา ได้เดินทางกลับมาภูมิลําเนาเดิมที่อุบลราชธานี โดยพักที่โฮง (บ้านพัก) ของอํามาตย์ตรี พระวิภาคย์พจนกิจ (เล็ก สิงหัษฐิต) ซึ่งเป็นอดีตเลขานุการใน พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ และมีศักดิ์เป็นหลานเขย ของหม่อมเจียงคํา ชุมพล ณ อยุธยา

ต่อมาไม่นาน หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ได้ล้มป่วยและถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2481 สิริอายุ 59 ปี โดยเก็บศพไว้เป็นเวลา 2 ปี ที่โฮงของอํามาตย์ตรี พระวิภาคย์พจนกิจ (เล็ก สิ่งหัษฐิต) เพื่อรอโอรสเสด็จกลับจากต่างประเทศ

ต่อมาในปี พ.ศ.2483 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานเพลิงศพ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) ณ วัดสุทัศนาราม อําเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นวัดประจําตระกูลที่ราชบุตร (สุ่ย) เป็นหัวหน้าพาลูกหลานสร้าง โดยทําพิธีศพตามประเพณีโบราณของเจ้านายเมืองอุบลราชธานี คือ เมื่อเจ้าเมืองหรือลูกหลานเจ้าเมืองอุบลราชธานีเสียชีวิต จะต้องสร้างรูปนกหัสดีลิงค์ แล้วสร้างหอแก้วบนหลังนก แล้วเชิญหีบศพขึ้นประดิษฐานในหอแก้ว

คุณูปการที่หม่อมเจียงคำได้สร้างไว้ ถือเป็นผลงานสำคัญอันควรยกย่อง ชาวอุบลราชธานีจึงเห็นควรที่จะจัดงาน "วันหม่อมเจียงคำ" ขึ้น ในวันที่ 20 ตุลาคม ของทุกๆ ปี ซึ่งเป้นวันที่ท่านถึงแก่อนิจกรรม เพื่อน้อมรำลึกถึงท่าน 

หม่อมเจียงคำ-ชุมพล-ณ-อยูธยา-05.jpg

ต่อมาได้ จัดทำรางวัล "หม่อมเจียงคำ" เพื่อมอบให้กับสตรีหรือบุรุษผู้มีจิตอาสา ทำความดีแก่แผ่นดินมากมาย โดยได้คัดเลือกและมอบรางวัลมาปีนี้เป็นปีที่ 2 แล้ว มีผู้ที่ได้รับรางวัล ดังนี้

1. นางอรอินทร์ ภูริพัฒน์ (พ.ศ.2561)

2. คุณแม่ผลา สิงหัษฐิต (พ.ศ.2561)

3. นางสาวลำพูน สุวรรณกูฏ (พ.ศ.2562)

4. นางสาวทองพรรณ โมฬีชาติ (พ.ศ.2562)

5. รศ.อุไรวรรณ อินทรีย์ (พ.ศ.2562)

6. นางสุนีย์ ตริยางกูรศรี (พ.ศ.2562)

7. นางทิพย์รัตน์ เผ่าวิจารณ์ (พ.ศ.2562)

หม่อมเจียงคำ-ชุมพล-ณ-อยูธยา-08.jpg

หม่อมเจียงคำ-ชุมพล-ณ-อยูธยา-09.jpg

หม่อมเจียงคำ-ชุมพล-ณ-อยูธยา-10.jpg

หม่อมเจียงคำ-ชุมพล-ณ-อยูธยา-11.jpg

หม่อมเจียงคำ-ชุมพล-ณ-อยูธยา-12.jpg

หม่อมเจียงคำ-ชุมพล-ณ-อยูธยา-13.jpg

หม่อมเจียงคำ-ชุมพล-ณ-อยูธยา-14.jpg

หม่อมเจียงคำ-ชุมพล-ณ-อยูธยา-15.jpg