ม.อุบลฯ เพาะเชื้อราไตรโคเดอร์มา แก้ปัญหาเชื้อราจากน้ำท่วมขังในพืชผัก
คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 อุบลราชธานี (สวพ.4) และ กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล รวมพลังเป็นส่วนหนึ่ง ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม เพาะเชื้อราไตร์โครเดอร์มาจากข้าวเจ้า เพื่อแก้ปัญหาเชื้อราจากน้ำท่วมขังในพืชผัก ข้าว และมันสำปะหลัง จำนวน 8,400 ถุง โดย ดร.นรินทร บุญพราหมณ์ คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ตัวแทนส่งมอบเชื้อราไตรโคเดอร์มา เพื่อนำแจกจ่ายให้เกษตรกรผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี
เชื้อราไตรโคเดอร์มา เป็นเชื้อราที่เป็นประโยชน์ต่อพืช ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ต้านทานต่อเชื้อโรคพืชทั้งเชื้อราและแบคทีเรีย สาเหตุโรคพืชได้เป็นอย่างดี โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุวดี ชูประภาวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง นำทีมอาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา ร่วมกันเพาะเชื้อรา ณ ห้องปฏิบัติการคณะเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา
ดร.นรินทร บุญพราหมณ์ คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า โครงการฟื้นฟูช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยหลังน้ำลด โดย ศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ คณะเกษตรศาสตร์ ได้เพาะเชื้อราไตรโคเดอร์มา จำนวน 8,400 ถุง พร้อมนำแจกจ่ายให้เกษตรกรผู้ประสบภัยหลังน้ำลด เพื่อแก้ปัญหาเชื้อราจากน้ำท่วมขังในพืชผัก ข้าว และมันสำปะหลัง ให้สามารถต้านทานเชื้อโรคพืช เชื้อราก่อโรคในดิน แบคทีเรียที่สร้างปัญหาเกี่ยวกับระบบรากพืช
นอกจากนี้ เชื้อราไตรโคเดอร์มา ยังสามารถช่วยละลายแร่ธาตุให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ช่วยให้พืชแข็งแรงสร้างความต้านทานต่อเชื้อโรค นำไปสู่ผลผลิตที่ดีของการทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืน
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุวดี ชูประภาวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ คณะเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เชื้อราไตรโคเดอร์มา เป็นเชื้อราที่อาศัยอยู่ในดินย่อยเศษซากอินทรียวัตถุเป็นอาหาร สามารถควบคุมเชื้อสาเหตุโรคของพืชหลายชนิด อาทิ โรคเน่าคอดิน โรครากเน่าโคนเน่า โรคตายพรายกล้วย โรคเมล็ดเน่าและโรคเหี่ยวเหลืองมะเขือเทศ เป็นต้น
สำหรับการผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด โดยนำหัวเชื้อ สปอร์เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า นำมาขยายหรือเลี้ยงบนข้าวเจ้าหุงกึ่งสุกกึ่งดิบ บรรจุลงถุงขนาด 250 กรัม/ถุง ก่อนนำหัวเชื้อใส่ลงไปในข้าวที่เย็นแล้วด้วยเทคนิคปลอดเชื้อ บ่มเชื้อในที่อากาศถ่ายเท ไม่ถูกแดด ประมาณ 2-3 วัน จนเส้นใยเจริญเต็มถุงบ่มประมาณ 4-5 วัน
เชื้อราเป็นสีเขียวทั่วทั้งถุง สามารถนำไปใช้ได้หลายรูปแบบ เช่น การคลุกเมล็ดก่อนนำไปปลูก การฉีดพ่นน้ำเชื้อลงในดินและต้นพืช การใส่เชื้อสดผสมปุ๋ยหมักและรำ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ผลดีในการทำงานของเชื้อรา ผู้ใช้ควรฉีดพ่นน้ำเชื้อสดในขณะแดดอ่อน หรือช่วงเย็น และรดน้ำให้ดินชื้นก่อน
นับเป็นอีกหนึ่งผลงานด้านการบริการวิชาการของ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในการดำเนินโครงการฟื้นฟูช่วยเหลือผู้ประสบภัยหลังน้ำท่วม สำหรับเกษตรกร หรือผู้สนใจผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โทร.045-353535
เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ