เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ พระราชทานกำลังใจแก่ชาวอุบลฯ ที่ประสบภัยน้ำท่วม
วันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 เวลา 11.42 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จแทนพระองค์ ไปยังโรงเรียนบ้านคูเดื่อ ตำบลแจระแม อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ในการพระราชทานอุปกรณ์กีฬาพระราชทานแก่โรงเรียนที่ขาดแคลนในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 23 โรง
ประกอบด้วย โรงเรียนบ้านคูเดื่อ , โรงเรียนบ้านหนองแก , โรงเรียนชุมชนบ้านหัวเรือ ,โรงเรียนบ้านทัพไทยและโรงเรียนวัดท่าวังหิน อำเภอเมืองอุบลราชธานี โรงเรียนบ้านนาผาย , โรงเรียนบ้านปลาฝา , โรงเรียนบ้านท่าลาด , โรงเรียนผักแว่น (ผักแว่นวิทยาคาร) , โรงเรียนบ้านท่าค้อ , โรงเรียนบ้านกอก , บ้านยางน้อย (พรหมวิทยา) , โรงเรียนบ้านขามป้อม , โรงเรียนสร้างถ่อสามัคคี , โรงเรียนชุมชนดอนเชียงโทรังแร้ง , โรงเรียนบ้านทุ่งใหญ่และโรงเรียนบ้านนาแก้วประชาสรรค์ อำเภอเขื่องใน โรงเรียนบ้านดุมใหญ่ดงยาง ,โรงเรียนบ้านยางสักกระโพหลุ่ม , โรงเรียนบ้านหนองหล่มหนองเหล่าและโรงเรียนบ้านดอนแดง อำเภอม่วงสามสิบ โรงเรียนบ้านท่าเมืองและโรงเรียนบ้านกุดกั่ว อำเภอดอนมดแดง
ทั้งนี้ เมื่อเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน 2562 โรงเรียนบ้านคูเดื่อ ประสบอุทกภัยจากอิทธิพลพายุโซนร้อนโพดุลและพายุโซนร้อนคาจิกิ โดยน้ำท่วมสูง 4 เมตร ทำให้อาคารเรียน , ห้องน้ำนักเรียน , สนามเด็กเล่น อุปกรณ์เครื่องเล่น รวมทั้งอุปกรณ์กีฬาได้รับเสียหาย และรั้วคอนกรีตบริเวณด้านหน้าโรงเรียนทรุดตัว หลังน้ำลด เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2562 ได้รับการช่วยเหลือจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 1 เข้าไปทำการซ่อมแซมส่วนที่ได้รับความเสียหาย เช่น ทาสีอาคาร ปรับปรุงระบบน้ำและเปลี่ยนประตู-หน้าต่าง สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ ปัจจุบันเปิดการเรียนการสอน ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง 6 มีนักเรียน 59 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษา 12 คน
.
โอกาสนี้ ทรงเยี่ยมประชาชนที่ไปเฝ้ารับเสด็จอย่างใกล้ชิด สำหรับบ้านคูเดื่อ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขายและรับจ้างทั่วไป รายได้โดยเฉลี่ย 36,000 ถึง 50,000 บาท ต่อครอบครัวต่อปี
เวลา 12.11 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จไปยังหอประชุมประชาวาริน เทศบาลเมืองวารินชำราบ ทรงเยี่ยมประชาชนในพื้นที่อำเภอวารินชำราบ ที่ประสบอุทกภัยจากอิทธิพลพายุโซนร้อนโพดุลและพายุโซนร้อนคาจิกิ ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานี ประสบอุทกภัยจากพายโซนร้อนดังกล่าวในทุกอำเภอ รวมทั้งสิ้น 25 อำเภอ ประชาชนเดือดร้อน 42,383 ครัวเรือน 159,692 คน มีผู้อพยพรวม 21,691 คน พื้นที่การเกษตรเสียหายรวม 639,556 ไร่ วัด 140 วัด และโรงเรียนได้รับผลกระทบจำนวน 156 โรง โดยมีอำเภอที่ประสบอุทกภัยรุนแรง 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวารินชำราบ อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอดอนมดแดง อำเภอตระการพืชผลและอำเภอเมืองอุบลราชธานี
ในการนี้ พระราชทานพันธุ์ข้าว พันธุ์ปลา หญ้าอาหารสัตว์และพระราชทานเงินช่วยเหลือแก่นายอำเภอและปลัดอำเภอทั้ง 5 อำเภอ ซึ่งเป็นอำเภอที่ประสบอุทกภัยรุนแรงกับพระราชทานเงินช่วยเหลือตัวแทนกลุ่มอาชีพ จำนวน 5 กลุ่ม และพระราชทานเครื่องแบบนักเรียนแก่นักเรียน จำนวน 10 โรง
ในการนี้ทรงมีพระปฏิสันถารด้วยข้าราชการ และประชาชนที่มาเฝ้าฯรับเสด็จ ตอนหนึ่งว่า
.
"เรื่องของธรรมชาติ ก็คือเรื่องของธรรมชาติ แต่คนก็อย่าเสียกำลังใจนะ เราก็จะได้ร่วมมือร่วมใจร่วมแรงช่วยเหลือกันต่อไปนะคะ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคตเราก็คงจะมีการเฝ้าระวัง ป้องกันปัญหาแบบนี้ได้ดีขึ้นนะคะ เดี๋ยวก็คงจะมีโอกาสหารือกับส่วนราชการต่างๆ แต่สำหรับประชาชนทุกท่านก็ขอบอกว่า คิดถึงนะคะ แล้วขอโทษที่อาจจะมาช้า เพราะว่าตอนน้ำท่วมยุ่งๆ ก็ไม่อยากจะมารบกวน ส่วนหนึ่ง ส่งมาแต่ของ แล้วที่ผ่านมาก็อาจจะงานค่อนข้างเยอะ แต่รายการนี้ ที่จะมาอุบลฯ ก็จัดลงตารางของเราไว้ ว่าอย่างไรๆก็ต้องมาเยี่ยม และก็มาให้ของฟื้นฟูทุกๆคน”
จากนั้น ทอดพระเนตรนิทรรศการเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยของมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา มีพระดำริให้มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยจัดตั้งโรงครัวพระราชทานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) จำนวน 2 จุดคือ วัดบ้านยางกระเดา ตำบลท่าเมือง อำเภอดอนมดแดง และวิทยาลัยเทคนิคตระการพืชผล ตำบลเซเป็ด อำเภอตระการพืชผล แจกจ่ายอาหารได้ 10,700 ชุด นำรถประกอบอาหารเคลื่อนที่เพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ประกอบอาหารสดและนำอาหารแจกจ่ายให้ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอวารินชำราบและอำเภอสว่างวีระวงศ์จำนวน 1 จุด ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอวารินชำราบ โดยการจัดทำอาหารกล่องรวม 25,456 กล่อง และมอบถุงยังชีพพระราชทาน มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย จำนวน 4,100 ชุด จัดหาพันธุ์ข้าว พันธุ์ปลา อาหารสัตว์ เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการฟื้นฟูอาชีพแก่ผู้ประสบอุทกภัย ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและปศุสัตว์ จัดหาชุดนักเรียนจำนวน 982 ชุด เพื่อพระราชทานแก่นักเรียน นอกจากนี้ ทางจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับทุกภาคส่วนให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยทุกด้าน จนกระทั่งปิดศูนย์พักพิงและส่งผู้ประสบภัยกลับบ้าน เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562
.
โอกาสนี้ พระราชทานอาหารกล่อง ข้าวเหนียวหมูทอด แก่ผู้แทนข้าราชการ , ผู้แทนจิตอาสา , และผู้แทนเหล่าอาสากาชาด เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ นับเป็นพระกรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้
เวลา 15.09 น. เสด็จไปยังวัดช่างหม้อ ตำบลคำน้ำแซบ อำเภอวารินชำราบ ในการนี้ ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์
.
วัดช่างหม้อ ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัยจากอิทธิพลพายุโซนร้อนโพดุลและพายุโซนร้อนคาจิกิ เมื่อเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน 2562 น้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร ทำให้อุโบสถชั้นล่างได้รับความเสียหาย ปัจจุบันได้ทำการฟื้นฟูเรียบร้อยแล้ว มีพระสงฆ์จำพรรษา 6 รูป
จากนั้น ทรงพระดำเนินไปยังศูนย์เรียนรู้การปั้นเตาอั้งโล่ชุมชนบ้านช่างหม้อ หมู่ 5 ตำบลบ้านคำน้ำแซบ ในการนี้ พระราชทานดินเหนียวที่ใช้ปั้นเตาอั้งโล่ของมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่งภาฯ ยามยาก แก่ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 เพื่อไปมอบให้แก่ประชาชนในชุมชนที่ประสบอุทกภัยเพื่อฟื้นฟูด้านอาชีพอย่างยั่งยืน โดยชุมชนบ้านช่างหม้อ มี 175 ครัวเรือน มีผู้ประกอบการปั้นเตาอั้งโล่ 113 ครัวเรือน นอกนั้น ประกอบอาชีพค้าขายและรับจ้างทั่วไป จากเหตุอุทกภัยเมื่อเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน 2562 ได้รับความเดือนร้อนน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร อุปกรณ์ที่ทำเตาอั้งโล่เสียหายทั้งหมด
.
โอกาสนี้ ทอดพระเนตรการทำเตาอั้งโล่ปั้นด้วยมือของบ้านนายสุบรรณ บุญงาม อายุ 60 ปี ปราชญ์ชาวบ้าน
.
ชุมชนบ้านช่างหม้อ ก่อตั้งมาประมาณ 160 ปี อพยพมาจากจังหวัดนครราชสีมาได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่ริมแม่น้ำมูลทางทิศใต้ เดิมประกอบอาชีพปั้นหม้อดินเหนียว ปัจจุบันเปลี่ยนมาปั้นเตาอั้งโล่ เนื่องจากวัตถุดิบในการปั้นหม้อดินเหนียวหายาก และความต้องการลดน้อยลง สำหรับวัตถุดิบและอุปกรณ์ในการทำเตาอั้งโล่ ประกอบด้วย ดินเหนียว แกลบขาว แกลบดำ ถังเตา ดินสีและรังผึ้ง มีทั้งหมด 7 ขนาด ต้นทุนในการผลิต 50 ถึง 150 บาทต่อใบ ปัจจุบันส่งจำหน่ายในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียง โดยมีรายเฉลี่ยกว่า 140,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี
.
เวลา 15.52 น. เสด็จไปยังอุโบสถวัดท่ากกแห่ หมู่ 8 ตำบลแจระแม อำเภอเมืองอุบลราชธานี ในการนี้ ทรงวางพวงมาลัย , ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระประธานอุโบสถ , ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ แล้วทรงถวายสีทาอุโบสถแด่พระครูวิศิษฏ์ธรรมวงศ์ (วิ-สิด-ทำ-มะ-วง) เจ้าอาวาสวัดท่ากกแห่ เพื่อใช้ในการบูรณะซ่อมแซมสีผนังอุโบสถที่เสียหายจากเหตุการณ์อุทกภัย
โอกาสนี้ ทรงนำข้าราชการ คณะกรรมการบริหารมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยากฯ และจิตอาสา ร่วมกันทาสีภายในอุโบสถ
.
สำหรับ วัดท่ากกแห่ เดิมชื่อ วัดบ้านท่ากกแห่ โดยหลวงปู่ตุ่ย เจ้าอาวาสรูปแรกร่วมกับประชาชนบ้านท่ากกแห่ สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2500 ปัจจุบันมีพระสงฆ์ 9 รูป สามเณร 7รูป ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2562 บริเวณวัดถูกน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร ประมาณ 20 วัน เนื่องจากที่ตั้งวัดอยู่ติดกับแม่น้ำมูล ซึ่งนับว่ามีระดับน้ำท่วมสูงกว่าทุกครั้งที่วัดเคยประสบอุทกภัยมาก่อนในปี 2545 , ปี 2554 , และปี 2556
โดยช่วงเวลาที่วัดถูกน้ำท่วม พระสงฆ์และสามเณร ต้องพักอยู่บนกุฏิที่น้ำท่วมไม่ถึงและใช้เรือในการสัญจร ภายในอุโบสถ มีพระพุทธรูป โต๊ะหมู่บูชา ตู้พระไตรปิฎกและหนังสือพระไตรปิฎก ได้รับความเสียหาย และเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2562 ดินริมตลิ่งวัดยังได้เกิดการทรุดตัวลง หลังจากระดับน้ำแม่น้ำมูลลดลงกลับเข้าสู่ภาวะปกติ พระสงฆ์และสามเณร รวมทั้งประชาชนในชุมชนบ้านท่ากกแห่ ตลอดจนหน่วยงานของทางจังหวัดและภาคเอกชน ได้ช่วยกันฟื้นฟู ปรับพื้นที่บริเวณวัดเพื่อให้สามารถเป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจของสงฆ์และกิจกรรมทางพุทธศาสนาได้ตามเดิม
โอกาสนี้ ทรงปลูกต้นรวงผึ้งบริเวณหน้าอุโบสถและทรงเยี่ยมประชาชน ก่อนเสด็จกลับ
ข่าวในพระราชสำนัก สทท.