แชมป์เก่า อาชีวะอุบลฯ เตรียมท่าเด็ด สู้ศึกแกะสลักหิมะนานาชาติที่ฮาร์บิ้น
วันที่ 25 ธันวาคม 2562 รายงานความคืบหน้า การเตรียมการเพื่อเข้าร่วมแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ ของทีมวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี เพื่อเดินทางเข้าร่วมการแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติ ร่วมกับ วิทยาลัยเทคนิคสระบุรี และวิทยาลัยสารพัดช่างตราด ในนามตัวแทนประเทศไทย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ณ มหาวิทยาลัยวิศวกรรมฮาร์บิ้น มณฑลเฮย์หลงเจียง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ในระหว่างวันที่ 4-7 มกราคม 2563
ทีมวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี นำโดย ดร.พงษ์ศักดิพล ทาแก้ว ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี นายพิศิษฐ์ อู่ศิริกุลพาณิชย์ หัวหน้าคณะวิชาศิลปกรรม นายสุระชาติ พละศักดิ์ หัวหน้าแผนกวิชาวิจิตรศิลป์ ครูผู้ฝึกสอน นำนักเรียน นักศึกษา ประกอบด้วย นายอัฐกร แก้วหาวงศ์ นักศึกษา ปวส.2 นายพลรบ รูปคม นักศึกษา ปวส.1 นายอนันตชัย วอทอง นักเรียน ปวช.3 และนายอำพล ธรรมทอง นักเรียน ปวช.1 ทั้งหมดเป็นนักเรียน นักศึกษาในสาขาวิชาวิจิตรศิลป์ คณะวิชาศิลปกรรม
ทั้งหมดได้ฝึกซ้อมแกะสลักให้ได้ตามชิ้นงานจากหิมะเทียม สูตรพิเศษที่คิดค้นเพื่อการฝึกซ้อมโดยเฉพาะ แนวคิดจากครู สุระชาติ พละศักดิ์ พร้อมกับนำทีมฟิตสภาพร่ายกาย ที่จะต้องอาศัยความแข็งแกร่ง และแข็งแรงของร่างกายในการปรับสภาพ ที่จะต้องเอาชนะความหนาวที่ติดลบถึง 25 องศาเซลเซียส หรือบางปีมากกว่านั้น ให้ได้
ทั้งนี้ ทีมงานต้องวิ่งออกกำลังกายแต่เช้า เพื่อฟิตร่างกายให้แข็งแรงอบอุ่น อีกทั้งต้องซ้อมความแข็งแกร่ง อดทนของร่ายกาย และกำลังส่วนกล้ามเนื้อแขน ก็เช่นกัน ต้องอาศัยการฝึกซ้อมอย่างหนัก เพื่อจะได้ไม่เมื่อยล้า หรือปวดเวลาใช้งานจริง เพราะเป็นจุดสำคัญที่จะต้องใช้ในการแข่งขัน
ดังนั้น การสร้างจินตนาการด้วยการฝึกซ้อมการแกะสลักหิมะในอากาศที่สมจริง มีชื่อว่า "ท่าแทงลม" "ท่าสอยดาว” หรือจะเรียกว่า “ท่าสอยมะม่วง” ก็ได้ นับเป็นการฝึกซ้อมที่ได้ทั้งการออกกำลังกายและได้ทักษะการแทงหิมะ" ที่เข้มแข็ง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับก้อนหิมะที่สูงถึง 3 เมตร ในการแข่งขันที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเร็วๆ นี้
ด้านนายสุระชาติ พละศักดิ์ หัวหน้าแผนกวิชาวิจิตรศิลป์ ครูผู้ควบคุมทีม เปิดเผยว่า ขณะนี้ทุกคนในทีมงานมีความพร้อมเต็มที่ มีกำลังใจและความหวังที่จะคว้ารางวัลจากการเข้าร่วมแข่งขันแกะสลักหิมะนานาชาติในครั้งนี้ จากการฝึกซ้อมท่าดังกล่าว นับว่าเป็นท่าที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการทำงาน เนื่องจากการแข่งขันวันแรก จะต้องอาศัยกำลังจากกล้ามเนื้อ ลำตัว แขน และหัวไหล่ เป็นอย่างมาก เพื่อเปิดหน้างานสำหรับแกะสลักหิมะด้วยความสูงถึง 3 เมตร ให้ออกมาเป็นรูปร่างและรูปทรงที่เราต้องการก่อนที่จะลงมือลงรายละเอียดต่างๆ ซึ่งการฝึกซ้อมและการเตรียมความพร้อมทุกคนทำได้ดี เป็นที่พึงพอใจอย่างมาก มีกำลังกาย และกำลังใจที่จะต้อสู้ในการแข่งขันครั้งนี้
สำหรับปีนี้ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ได้ออกแบบผลงานสุดฝีมือ ในชื่อ “พลังแห่งความสามัคคี” “Unity is Strength” ด้วยการจำลองเหตุการณ์ในโลกจินตนาการของกลุ่มสัตว์ที่อยู่ในแดนป่าหิมพานต์ที่ใช้พลังสามัคคีช่วยเหลือกันในยามเดือดร้อน ได้แก่ ไกสรคชสิงห์ คชสิงห์วารี เหรา สกุณาเหรา
ส่วนลวดลายในการแกะสลักนั้นนั้น ได้รับแรงบันดาลใจจากงานพุทธศิลป์ จากการแกะสลักต้นเทียนพรรษาเมืองอุบลฯ ที่มีความวิจิตร งดงาม อ่อนช้อย โดยเฉพาะลวดลายของคชสิงห์ ที่มีลักษณะร่างกายเป็นสิงห์และมีช่วงศีรษะเป็นช้าง ที่ทีมมองว่าการรังสรรค์ผลงานไม่ง่ายเลย
การแข่งขันในครั้งนี้ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี มั่นใจว่าจะสามารถคว้าแชมป์อีกครั้งเหมือนเช่น ในปี 2560 ที่สร้างปรากฏการณ์ให้ชาวไทยต้องจดจำ เนื่องจากสามารถคว้ารางวัล TOP GRADE AWARDS ทีมที่มีคะแนนรวมสูงสุดจาก 57 ทีม 15 ประเทศทั่วโลก ในชื่อผลงาน “Water-Fish-Paddy Field- Rice” หรือ “ในน้ำมีปลาในนามีข้าว”
จากนั้นในปี 2561 การแข่งขันครั้งที่ 2 ทีมจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานีก็ไม่ทำให้คนอีสานและชาวไทยผิดหวัง สามารถสร้างผลงานอย่างน่าชื่นชม ได้รับรางวัล First Prize (รางวัลที่ 1) และรางวัล Best Technique Award (รางวัลทักษะฝีมือเทคนิคการแกะสลักยอดเยี่ยม) มาถึง 2 รายการ ด้วยผลงานที่ชื่อ “อาชา-ปักษา-มัจฉา-วารี” (Belief… Faith… Miracle)
ส่วนในปี 2562 เข้าร่วมการแข่งขันสู่ปีที่ 3 คว้ารางวัลที่ 2 ด้วยผลงาน “มิตรภาพเหนือกาลเวลา” จากเหตุการณ์การหายตัวไปของทีม 13 หมูป่าอคาเดมี
และปี 2563 นี้เป็นครั้งที่ 4 พวกเขาจะทำผลงานสร้างปรากฏการณ์อันลือโลกเช่นในอดีตได้สำเร็จหรือไม่ คอยติดตามและให้กำลังใจกันต่อไป