กรอ. 4 จังหวัดอีสานใต้ เห็นชอบ "ช่องเม็ก" เขตเศรษฐกิจพิเศษ
นายชวลิต องควานิช ประธานกรรมการที่ปรึกษาหอการค้าอุบลฯ ได้กล่าวว่า ก่อนหน้าการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง หรือ กรอ. กลุ่ม จ.อีสานใต้ตอนล่าง 2 คือ อุบล-ศรีสะเกษ-ยโสธร-และอำนาจเจริญ ครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 57 ที่ผ่านมา ณ บริเวณห้องประชุมศาลากลางจังหวัดอุบลฯ โดยมีนายคันฉัตร ตันเสถียร รองผวจ.อุบลฯ ประธานการประชุม คณะกรรมการกลุ่มจังหวัดที่ประชุมพร้อมเพรียง
ซึ่งการประชุมครั้งนั้น ทางหอการค้าอุบลราชธานี ได้หยิบยกการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษด่านถาวรช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลฯ ว่าทางกลุ่มจังหวัดฯ มีแนวคิดว่า กลุ่มจังหวัดควรจะมีเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน ซึ่งทางภาคเอกชนได้เสนอ ด่านช่องเม็ก เพราะมีความเหมาะสมและมีศักยภาพ เนื่องจากเป็นเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมโยงไปสู่อินโดจีนได้ อีกทั้งปริมาณการค้าชายแดนก็เพิ่มขึ้นทุกปี เราเคยนำเสนอให้จังหวัดสนับสนุนแล้ว
ในโอกาสนี้ ขอเสนอในที่ประชุม กรอ.กลุ่มจังหวัด เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มจังหวัดของเรา มีเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งการที่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว ก็เป็นประโยชน์กับกลุ่มจังหวัดในการด้านการค้า การท่องเที่ยว และการเชื่อมโยง การคมนาคมต่างๆ ให้มีความสะดวกมากขึ้น ซึ่งที่ประชุมในเวทีนี้ได้เห็นชอบ ให้มีดำเนินการสานต่อเป็นรูปธรรมชัดเจนยิ่งขึ้นต่อไป ซึ่งนอกจากนี้ นายเสริม ไชยณรงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลฯ ได้กล่าวขยายความให้ความสำคัญในส่วนนี้ ที่งานพบปะสังสรรค์ของหอการค้าอุบลฯ เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ 2558 ณ หงษ์ฟ้าภัตตาคาร เมื่อ 15 ม.ค. 58 ที่ผ่านมา
นายชวลิต ปธ.ก.ที่ปรึกษาหอการค้าอุบลฯ ได้กล่าวขยายความต่อว่า เพื่อพัฒนาให้จังหวัดอุบลราชธานี เป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยว การค้า และการขนส่ง ของอีสานใต้ และอินโดจีนตอนกลาง ผ่านพรมแดนช่องเม็ก เข้าสู่เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก และเชื่อมต่อไปยังเมืองต่าง ๆ ในกลุ่มอินโดจีนร่วมกันพัฒนาด้านการท่องเที่ยว การค้า การลงทุน การเกษตร การขนส่ง ฯลฯ และเปลี่ยนรูปแบบจากเมืองชายแดนไปสู่การเชื่อมโยง Land Lock สู่ Land Link ผ่าน สปป.ลาว และกัมพูชา สู่ทะเลจีนใต้ที่เวียดนาม หลังจากการเปิดเสรีภาพการค้าระหว่างกลุ่มอาเซียน ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area : AFTA) เพื่อยกเว้นภาษี มีการลงทุนร่วมกัน และการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) มีเป้าหมายในการรวมตัวเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน โดยมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน แรงงานที่มีฝีมืออย่างเสรี ทำให้แนวชายแดนเปิดกว้าง โดยไม่ต้องมีประตูขวางกั้นอีกต่อไปในอนาคต
อนึ่ง แบบการเสนอโครงการ ของศูนย์ปฏิบัติการ ร่วมกลุ่มจังหวัด ปีงบประมาณ พ.ศ.2558
1. ชื่อโครงการ : การพัฒนาการค้าชายแดนของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2
2. สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ยุทธศาสตร์
ที่ 4 การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน และยุทธศาสตร์ที่ 5 การสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม
ยุทธศาสตร์ประเทศ ยุทธศาสตร์ด้านที่ 1 การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง และด้านที่ 3 การลดความเหลื่อมล้ำ
ยุทธศาสตร์อาเซียน ข้อที่ 1 การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของสินค้า บริการ และการลงทุน และข้อที่ 8 การเพิ่มศักยภาพของเมืองเพื่อเชื่อมโยงโอกาสจากอาเซียน นโยบายรัฐบาล ข้อ 3 การลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ และ ข้อ 6 การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ วิสัยทัศน์ของกลุ่มจังหวัด
3. หลักการและเหตุผล รัฐบาลของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เข้ามาบริหารประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2557 พร้อมกับแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันศุกร์ที่ 12 กันยายน 2557 นโยบายการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจให้สามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง ลดอุปสรรคการส่งออกเพื่อให้เกิดความคล่องตัว ลดขั้นตอนของกระบวนการด้านธุรการและเอกสารอื่นๆ ที่จะช่วยให้ระบบการส่งสินค้าเร็วขึ้น พร้อมทั้งแสวงหาตลาดที่มีศักยภาพเพื่อขยายฐานการส่งออก ซึ่งครอบคลุมถึงการค้าชายแดนกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 ประกอบด้วยจังหวัด อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร และ
อำนาจเจริญ โดยกำหนดให้จังหวัดอุบลราชธานีเป็นศูนย์กลางการบริหารกลุ่มจังหวัด กำหนดวิสัยทัศน์ในปี 2558-2561 เป็น “ข้าวหอมมะลิเป็นเลิศ การท่องเที่ยวและการค้าชายแดนได้มาตรฐานสากล”
ตำแหน่งจุดยืนทางยุทธศาสตร์ของกลุ่มจังหวัด (Positioning) ให้ความสำคัญ “ด้านเศรษฐกิจและ
สร้างรายได้”
กลุ่มจังหวัดฯ มีพื้นที่ติดสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ระยะทาง 466 กิโลเมตร และราชอาณาจักรกัมพูชา 364 กิโลเมตร ติดกับแขวง สาละวันและจำปาสัก ของ สปป.ลาว และจังหวัดพระวิหารและอุดรมีชัยของกัมพูชา
มีจุดผ่านแดนถาวรไทย-สปป.ลาว 2 แห่ง คือ จุดผ่านแดนถาวรบ้านปากแซง-บ้านปากตะพาน อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี และช่องเม็ก-วังเต่า อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี
จุดผ่านแดนถาวรไทย-กัมพูชา มีแห่งเดียวที่ช่องสะงำ-ช่องจอม อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ
มีจุดผ่อนปรนไทย-สปป.ลาว 5 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี 4 แห่ง คือ จุดผ่อนปรน อำเภอเขมราฐ-บ้านปากซัน บ้านสองคอน-บ้านหนองแสง บ้านด่านเก่า-บ้านสิงห์สำพัน และช่องตาอู-บ้านเหียง ในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ 1 แห่ง คือ บ้านยักษ์คุ - บ้านเหล่ามะหูด อำเภอชานุมาน
และมีจุดผ่อนปรนไทย-กัมพูชา 1 แห่ง คือ ช่องอานม้า-บ้านสะเตียลกวาง อำเภอน้ำยืน จังหวัด
อุบลราชธานี
มูลค่าการค้าชายแดนที่คิดมูลค่าตามจุดผ่านแดนถาวรของกลุ่มจังหวัดฯ กับ สปป.ลาว (ม.ค. - ต.ค. 2557) จำนวน 14,095.3 ล้านบาท เป็นมูลค่าการส่งออก 12,714.4 ล้านบาท นำเข้า 1,380.9 ล้านบาท
มูลค่าการค้ากับกัมพูชา จำนวน 1,218.3 ล้านบาท ส่งออกจำนวน 1,083.1 ล้านบาท และนำเข้า จำนวน 135.2 ล้านบาท (ข้อมูลจากด่านศุลกากรแต่ละแห่ง)
มูลค่าการค้าชายแดนมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นทุกปี ยกเว้นในระหว่างปี 2552-2554 เกิดความไม่สงบชายแดนไทย-กัมพูชา ทำให้มูลค่าการค้าไทย-กัมพูชาลดลง และเมื่อเหตุการณ์เข้าสู่สภาวะปกติ มูลค่าการค้าก็เพิ่มขึ้น ในปี 2557 มีแนวโน้มลดลงผลจากการรัฐประหารในประเทศไทย แต่ในภาพรวมมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น
มูลค่าการค้าชายแดนเพิ่มขึ้นในแต่ละปี ของไทย-สปป.ลาว และไทย-กัมพูชา ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดฯ โดยเฉพาะสินค้าส่งออก ในลำดับต้น ๆ ที่ส่งไป สปป.ลาว ได้แก่ น้ำมัน ดีเซล น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว รถยนต์ปิคอัพ รถบรรทุกเก่าใช้แล้ว รถไถนา รถแทรคเตอร์ รถยนต์นั่งใหม่ อุปกรณ์ก่อสร้าง (เหล็ก) ปูนซีเมนต์ ปุ๋ย สารปรับปรุงดหิน ผลชูรสอายิโน๊ะโม๊ะโต๊ะ น้ำมันหล่อลื่น เครื่งจักรไม่ใช้ไฟฟ้า แก้วและผลิตภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน อุปโภค บริโภค ซึ่งเป็นสินค้าจากส่วนกลาง หรือในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคตะวันออก มีน้อยมากที่ผลิตในพื้นที่ของกลุ่มจังหวัด
ซึ่งเป็นเช่นเดียวกันกับชนิดสินค้าที่ส่งออกไปกัมพูชาผ่านทางด่านผ่านแดนถาวรช่องสะงำ ได้แก่ น้ำมัน ปูนซีเมนต์ อุปกรณ์ก่อสร้าง (เหล็ก) หิน รถแบ็คโฮ น้ำอัดลม กระเบื้องซีแพ็ค เกลือ ตู้เสื้อผ้าทำด้วยไม้อัด
ส่วนสินค้านำเข้าจาก สปป.ลาว โดยมากเป็นผลผลิตทางการเกษตรแต่ไม่มีการแปรรูปในพื้นที่
การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปลายปี 2558 เป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในกลุ่มจังหวัดที่ต้องเตรียมพร้อมเพื่อยกระดับการค้าชายแดนของกลุ่มจังหวัดให้เพิ่มขึ้น การใช้ประโยชน์จากพืชผลการเกษตรนำเข้ามาแปรรูปในพื้นที่ให้มากขึ้น รวมถึงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค เพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าชายแดนของกลุ่มจังหวัด
ข่าวจาก นสพ.หอการค้าอุบลราชธานี ธันวาคม 2557