เมื่อ "ตู้ปันสุข" ทำให้เริ่มไม่มีความสุข
วันที่ 26 พฤษภาคม 2563 ผู้ใช้เฟซบุ้คนามว่า Net Pasatorn Jongsuwat โพสข้อความตั้งคำถาม ย้อนไปถึงคอนเซปของ "ตู้ปันสุข" ที่เน้นความพอดี(ของผู้ให้และผู้รับ) หรือการแชร์ลิ่งอื่นๆ ในลักษณะนี้ ในขณะที่ เริ่มมีหน่วยงานรัฐ ขอความร่วมมือ ให้นำ "ของ" ไปใส่ในตู้ปันสุขที่อยู่ในนามของหน่วยงาน ถามว่า เพื่ออะไร? โดยข้อความมีดังนี้
ชอบคอนเซปของตู้ปันสุข ซึ่งมันเน้นภาวะจิตใจผ่านทางการแชร์สิ่งของ ในระดับที่เหมาะสมและพอใจของผู้ให้กับผู้รับ แต่เมื่อไหร่ที่มันโดนดึงเข้าระบบ โดยเฉพาะระบบแบบต้องวัดผล และต้องมีผลลัพธ์ ประกอบกับยิ่งเป็นระบบไทย ที่มีความอุปถัมภ์และเห็นแก่ตัว (ไม่ได้ว่ามีแค่ในเมืองไทย แต่ต้องยอมรับว่า มันมากติดอันดับโลก) ก็ปล่อยให้มันเป็นแค่คอนเซปเถอะ อย่าไปหาทำตามกระแส
ประเด็นคือ เริ่มมีหน่วยงานรัฐ ขอความร่วมมือ ให้นำ "ของ" ไปใส่ในตู้ปันสุขที่อยู่ในนามของหน่วยงาน ถามว่า เพื่ออะไร? ถ้าอยากตั้งตู้ ของที่ใส่ต้องอยู่ในระดับพอดีกับผู้ให้ ถ้าให้ได้เท่าไหร่ก็ใส่เท่านั้น หรือ หน่วยงานต่างๆ ตอนนี้มี KPI ตู้แล้วว่าต้องเต็ม ของต้องแน่น เวลาถ่ายรูป คิวรับของต้องยาวถึงจะดี
พิมพ์มาถึงตรงนี้ออกตัวก่อนว่า ไม่ได้มีปัญหากับการขอสนับสนุน เพราะเต็มใจและพร้อมที่จะมอบทั้งทุนและของสนับสนุนอย่างเต็มที่ และไม่ได้มีปัญหากับเจตนาที่ดีของหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องการทำสิ่งที่ดีให้กับชุมชนและคนที่ลำบาก
แต่ถ้ามองลงที่วิธีการ และย้อนไปถึงคอนเซปของตู้ปันสุข ที่เน้นความพอดี(ของผู้ให้และผู้รับ) หรือการแชร์ลิ่งอื่นๆ ในลักษณะนี้ มันจะรู้สึกแปลกมั้ย ที่ตู้ติดยี่ห้อชัดเจนว่าเป็นของใคร และขอสนับสนุนจากคนอื่นเพื่อให้ตู้ของตัวเองเต็ม?
ปล ใครขอมาก็ให้ครับ และขออนุโมทนากับการทำดีมา ณ ที่นี้
แท้จริงแล้ว หลักการของตู้ปันสุข มิใช่การแจกมหาทาน ซื้อมาเยอะๆ เพื่อมาแจก แต่เป็นการแบ่งปันของเล็กๆ น้อยๆ ที่มีในบ้าน พอที่จะให้คนอื่นๆ ได้
ตู้ปันสุขเป็นของชุมชน ผู้ติดตั้งไม่ได้เป็นเจ้าของ ไม่มีหน้าที่มาใส่ของให้หรือมาดูแลตู้ให้ เมื่อติดตั้งเสร็จแล้ว ถือว่ายกให้เป็นของชุมชน ของที่ใส่ในช่วงแรกจะเป็นเครื่องกระป๋อง ของแห้ง อาหารที่ไม่ใช่อาหารสดเพื่อให้อยู่ได้นานและไม่บูดเน่า เมื่อตู้หมุนเวียนได้ดี มีคนให้และคนรับตลอดเวลาอาจเริ่มนำของสดมาใส่ได้
เมื่อเอาของใส่ตู้แล้ว มันไม่ใช่ของเราอีกต่อไป จะมีคนเปิดหยิบไปหรือไม่ จะมีคนเติมหรือไม่ เป็นกระบวนการของชุมชนนั้นๆ ทั้งนี้เพราะ"ผู้ให้" ทุกท่านในชุมชน ไม่ได้มี "หน้าที่" เติมตู้ให้เต็ม แต่เป็นการแบ่งปันตามกำลัง ด้วยความรักความเมตตากรุณาต่อกัน และผู้รับก็อาจจะเป็นผู้ให้ได้ เมื่อมีโอกาส