ข้อเสนอชาวอุบลฯ น้ำท่วมเมืองอุบลราชธานี จะจัดการอย่างไร
ตามที่ ศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี จัดเวทีสาธารณะในหัวข้อ "การบริหารจัดการกับภัยพิบัติอุทกภัยของชาวอุบลราชธานี ปีที่ 1 : ภาพสะท้อนผลกระทบจากชาวอุบลราชธานี" โดยกำหนดจัดทั้งหมด 3 ครั้ง ผ่านไปแล้ว 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม 2563 และ ครั้งที่ 2 วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม 2563
เฟซบุ้ค นิกร วีสเพ็ญ ได้เผยแพร่ ข้อเสนอของประชาชนชาวจังหวัดอุบลราชธานี ในเรื่องปัญหาและข้อเสนอในเรื่อง "น้ำท่วมเมืองอุบลราชธานี จะจัดการอย่างไร" ซึ่งจัดไปเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ที่ผ่านมา ดังนี้
ได้มีโอกาสเป็นผู้ดำเนินการรวบรวม ข้อเสนอของประชาชนชาวจังหวัดอุบลราชธานี ในเรื่องปัญหาและข้อเสนอในเรื่อง "น้ำท่วมเมืองอุบลราชธานี จะจัดการอย่างไร" จัดโดยศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้าฯ ตามผมมาเลยครับ มาฟังข้อสรุปบางส่วน เสนอแบบตรงไปตรงมา
1. เสนอให้มีกองบัญชาการ (ศูนย์บัญชาการทุกเรื่อง) ในการจัดการเรื่องน้ำท่วมอย่างเร่งด่วน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพื่อเตรียมรับน้ำท่วมในปี 2563 และทุกๆ ปี
2. เสนอให้มีการบูรณาการในการจัดการเรื่องน้ำอย่างเป็นรูปธรรม ของหน่วยงานราชการและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทุกหน่ายงาน เช่น คณะกรรมการทุกลุ่มน้ำ กรมชลประธาน กรมเจ้าท่า กฟผ. กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงเกษตรและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำทุกหน่วยงาน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ อย่าต่างคนต่างทำอย่างเด็ดขาด
3. เสนอให้จัดตั้งและมีสื่อกลางเฉพาะกิจ ในช่วงวิกฤติอย่างเป็นทางการ เพื่อสื่อสารกับทุกพื้นที่ในยามวิกฤติ
4. เสนอให้มีการแก้กฏหมาย หรือระเบียบเกี่ยวกับการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ อย่ารวมศูนย์อยู่ที่เดียว เพราะช้าไม่ทันการ ให้กระจายอำนาจไปที่ อปท.ทุกแห่ง แต่ต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้ และเสนอให้แก้ไขระเบียบหลักเกณท์การช่วยเหลือผู้ประสพภัยพิบัติให้ชัดเจน ครอบคลุม รวดเร็ว ฉับไว ทันที ทันเวลา
5. เสนอให้มีการอบรมเรื่องการรับมือกับภัยพิบัติให้ชุมชน ตลอดจนหาสถานที่เป็นศูนย์พักพิง ที่สะดวก สอดคล้องกับวิถีชุมชนที่เป็นจุดเสี่ยง โดยสรุปบทเรียนจากปี 62
6. เสนอให้จัดระบบกลุ่มจิตอาสาต่างๆ ที่มาช่วยเหลืออย่างเป็นทางการ ให้เขาเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย เข้าถึงทุกพื้นที่และไม่ซ้ำซ้อนกันไปกันมา
7. เนื่องจากจังหวัดอุบลราชธานี เป็นพื้นที่รับน้ำของภาคอีสานตอนบนทั้งหมด โดยมีแม่นำชีเป็นหลักและแม่น้ำสาขา และเป็นพื้นที่รับน้ำของภาคอีสานตอนล่างทั้งหมดโดยมีแม่น้ำมูลและสาขา เป็นร้อยๆสายไหลมารวมกันที่อุบล เพื่อออกสู่ปากแม่นำโขง น้ำจึงท่วมทุกปี เสนอให้มีการศึกษาและทำแผนอย่างเป็นรูปธรรม แนวทางแก้ไขน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานีอย่างยั่งยืน มีโครงการพร้อมงบประมาณ ไม่ใช่แก้ปัญหาปีต่อปีอย่างปัจจุบัน
8. เสนอให้ทบทวนและศึกษาการจัดทำผังเมืองอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา เป็นวาระและข้อตกลงของคนอุบลทุกคน เช่น ตรงใหนจะทำเป็นแก้มลิง ตรงใหนจะทำเป็นป่าบุ่งป่าทาม ห้ามก่อสร้าง ตรงใหนจะทำเป็นที่รับน้ำขนาดใหญ่ ตรงใหนห้ามครอบครองและออกเอกสารสิทธิอย่างเด็ดขาด (ประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน) ตรงใหนห้ามถมที่ดินอันเป็นการกีดขวางทางน้ำเป็นต้น การทำผังเมืองต้องโปร่งใส ตรงไปตรงมา ประชาชนทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม เพราะเป็นข้อตกลงสาธารณะ
9. เสนอให้มีการทบทวนรูปแบบการทำถนนเลี่ยงเมืองว่า เป็นเขื่อนดินกีดขวางทางเดินของน้ำหรือไม่ทำอย่างไรน้ำจะมาไว ไปไว เหมือนปี 2521 เปลี่ยนมาทำถนนยกระดับแบบโปร่งให่น้ำไหลผ่านได้ดีหรือไม่ และให้มีการพิจารณาสิ่งที่กีดขวางทางเดินของน้ำในแม่น้ำมูลและชีทั้งหมดที่ทำให้น้ำลงไหลลงสู่แม่น้ำโขงช้า และมีข้อเสนอให้ทำประตูเขื่อนปากมูลเพิ่มอีก 1 เท่าเพื่อเปิดทางเดินของน้ำ
10.เสนอให้มีการทบทวนการทำผนังกั้นน้ำ กันตลิ่งพัง สองริมฝั่งแม่น้ำในปัจจุบัน ว่าถูกต้องและใช่หรือไม่ เพราะไม่สามาถป้องกันน้ำท่วมได้ น้ำจะไหลแรงมากขึ้น และน้ำจากด้านบนผนังคอนกรีตไม่สามารถไหลลงแม่น้ำตามธรรมชาติ ทำให้น้ำท่วมขัง และไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวบ้านและชุมชนคนกับน้ำต้องอยู่ด้วยกัน มีข้อเสนอให้ปลูกไม่ไผ่กันตลิ่งพังแทน
11. เสนอให้ใช้สูตรพระราชา ให้แต่ละชุมชนจัดทำแก้มลิงกังและลิงโทน เก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด ไว้ใช้ในหน้าแล้ง ตลอดเสนอให้ศึกษาการจัดทำธนาคารน้ำใต้ดิน
12. เสนอให้เรื่องน้ำท่วมเป็นวาระของชาวอุบลราชธานีทุกคน และทุกภาคส่วน สร้างเป็นแผนยุทธศาสตร์ร่วมของคนทุกคนในจังหวัด ไม่ใช่เฉพาะหน่วยงานราชการ
13. การรับรู้ข้อมูลข่าวสารในเรื่องสถานการณ์น้ำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ต้องเร่งทำอย่างเป็นระบบ เพราะชาวบ้านจะได้เตรียมรับสถานการณ์ได้ความเสียหาย จะไม่ได้เหมือนปี 2562 การสื่อสารต้องตรงไปตรงมารวดเร็วฉับไว บริหารโดยมืออาชีพ ไม่ปิดบังข้อมูลกันและกัน
14. ยังมีอีกครับ......
วันที่ 20 สิงหาคมนี้ เวลา 9.00 น.เป็นต้นไป ณ ศูนย์โอท๊อป หอนาฬิกา จ.อุบลราชธานี เวทีระดมความเห็นของนักวิชาการ เยาวชน ผู้สื่อข่าว นักธุรกิจ ภูมปัญญาชาวบ้าน....ขอเชิญทุกท่านที่มีความเห็นและอยากเสนอแนะ
เชิญนะครับ อุบลราชธานีเป็นของพวกเราทุกคน อย่าให้น้ำท่วมซ้ำซาก......