ภาคประชาชน เสนอ ผวจ. แนวทางการจัดการน้ำท่วมอย่างยั่งยืนจังหวัดอุบลฯ
วันที่ 3 กันยายน 2563 ศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้าจังหวัดอุบลราชธานี และเครือข่ายภาคประชาสังคม เข้าพบนายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อนำเสนอแนวทางการจัดการน้ำท่วมอย่างยั่งยืนจังหวัดอุบลราชธานี และการจัดตั้ง "ศูนย์อำนวยการเพื่อบริหารจัดการน้ำท่วมอย่างเป็นระบบ"
สืบเนื่องจากศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า จังหวัดอุบลราชธานี ได้เปิด เวที่สาธารณะ "การบริหารจัดการกับภัยพิบัติอุทกภัยของชาวอุบล" ปี 2562 ที่ศูนย์โอท็อป อบจ.อุบลราชธานี เป็นจำนวน 3 ครั้ง (30 ก.ค.63 / 6 ส.ค.63 และ 20 ส.ค.63) โดยรับฟังจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคธุรกิจ ภาคราชการ นักวิชาการ นักเรียน-นักศึกษา สื่อมวลชน และภาคประชาชน หลังจากนั้นสถาบันพระปกเกล้าได้ร่วมกับเครือข่ายภาควิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะทั้งหมด สร้างเป็นข้อเสนอ แนวทางการจัดการน้ำท่วมอย่างยั่งยืน นำเสนอต่อท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี
สำหรับการเกิดอุทกภัยในอุบลราชธานี มีสาเหตุสำคัญหลายประการ ได้แก่ อุบลราชธานีเป็นพื้นที่รับน้ำสุดท้าย จากแม่น้าชีไหลมารวมกับแม่น้ำมูลก่อนที่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขง จึงกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมอยู่เสมอ ขาดการบริหารจัดการน้ำเชิงบูรณาการ เช่น การเปิด-ปิดประตูน้ำเขื่อน และ ฝาย ที่ไม่สอดประสานกัน ภัยตามธรรมชาติได้แก่พายุตามฤดูกาลประจ้าทุกปี การวางผังเมืองที่ไม่ได้คำนึงถึงการเก็บรักษาแหล่งรับน้ำ การขยายตัวของเมืองและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้ทับถมทางไหลของน้ำ
ส่วนแนวทางการบริหารจัดการน้ำท่วมอย่างยั่งยืน แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ก่อนน้ำท่วม ระหว่างน้ำท่วม และหลังน้ำท่วม ดังนี้
ก่อนน้ำท่วม
- การสร้างระบบเตือนภัยและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพรวดเร็วแม่นยำ ข้อมูลต้องทั่วถึง ถูกต้อง และเข้าใจง่าย ควรพัฒนาจุดเตือนภัยในระดับชุมชน มีจุดวัดระดับน้ำที่เข้าใจง่าย และสามารถประสานข้อมูลกับเจ้าหน้าที่รัฐในการเตือนภัยล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน แต่ละชุมชนควรมีเสาเพื่อบอกระดับน้ำโดยเปรียบเทียบกับสถานีวัดน้า M7 ณ สะพานเสรีประชาธิปไตย
- เตรียมความพร้อมชุมชนในการรับมือน้ำท่วมโดยเฉพาะชุมชนที่เป็นจุดเสี่ยง
- พัฒนาระบบการจัดการอพยพ เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างตรงจุด ไม่ซ้าซ้อน รวดเร็ว และทั่วถึง
- เตรียมข้อมูลพื้นที่รองรับการประเมินความเสียหายหลังน้ำท่วม
- การพิจารณาเปิดประตูเขื่อนช่วงน้ำท่วมสูง ควรมีการกำหนดเปิดปิดประตูเขื่อนในสภาวะฉุกเฉินได้ ไม่ต้องรอมติกรรมการเปิดปิดเขื่อนเพียงอย่างเดียว
- จัดระบบกลุ่มจิตอาสาต่าง ๆ ที่มาช่วยเหลืออย่างเป็นทางการ
- จัดตั้งศูนย์อำนวยการเพื่อบริหารจัดการน้ำท่วมอย่างเป็นระบบ
ระหว่างน้ำท่วม
- เตรียมการด้านอาหารและที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ประสบภัย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการบริจาคอาหารที่เหมาะสมสำหรับ 1 มื้อ เพื่อไม่ให้เกิดการเหลือทิ้ง
- มีจุดรับบริจาคและผู้ประสานของชุมชนที่ชัดเจน โปร่งใส
- ควรมีผู้ประสานงานของภาครัฐ เข้าไปพูดคุยเพื่อรับฟังปัญหา และผ่อนคลายความเครียดของผู้ประสบภัย
- เตรียมการด้านเงินช่วยเหลือฉุกเฉินสำหรับผู้ประสบภัย เช่น การจ้างย้ายของและย้ายกลับ
- จัดเตรียมศูนย์อพยพให้พอเพียงถูกสุขลักษณะ
ระยะยาว
- การลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงผ่านการก่อสร้างต่างๆ จำเป็นต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบ ไม่ควรตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อการลงทุนที่ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน ทั้งทางนิเวศ เศรษฐกิจและสังคม
- จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการภัยพิบัติควรเกิดขึ้นทันท่วงที โดยมีการบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำงานได้ทันสถานการณ์
- จัดตั้งคณะท้างานเพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำท่วมอุบลราชธานีระดับจังหวัด
- ควรมีการวางแผนด้านงบประมาณให้สอดคล้องกับบริบทความเสี่ยงของพื้นที่ด้านภัยพิบัติน้ำท่วมบนฐานการใช้ความรู้จากศาสตร์ต่างๆ ร่วมกัน
- ผลักดันให้จังหวัดอุบลราชธานี เป็นเมืองต้นแบบในการจัดการน้ำท่วมบนฐานการใช้ข้อมูล
- จังหวัดควรผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายหรือระเบียบที่ไม่เอื้อต่อการบริหารจัดการภัยพิบัติ เช่น การประกาศพื้นที่ภัยพิบัติที่ช้าไม่ทันการ ระเบียบหลักเกณฑ์การช่วยเหลือผู้ประสบภัย
- จังหวัดส่งเสริมรูปแบบการวิจัยอย่างมีส่วนร่วมในการสร้างยุทธศาสตร์การจัดการน้ำ
- ทบทวนและศึกษาการจัดทำผังเมืองด้วยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
- ทบทวนรูปแบบการทำถนนเลี่ยงเมือง เพื่อไม่ให้กลายเป็นเขื่อนดินกีดขวางทางเดินของน้ำ