สมเด็จพระเทพฯ พระราชทานพระราโชวาท แก่บัณฑิตใหม่ ม.อุบลฯ
วันที่ 2 ธันวาคม 2557 เวลา 17.06 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประจำปีการศึกษา 2556 ซึ่งมีบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาตรี จำนวน 2,447 ราย ระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต จำนวน 193 ราย รวมทั้งสิ้นจำนวน 2,640 ราย ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
รองศาสตราจารย์นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้กราบบังคมทูลประกาศสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณ และ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) จอมจิน จันทรสกุล นายกสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เพื่อเทิดพระเกียรติคุณ ด้วยสำนึกในพระเกียรติคุณที่ทรงมุ่งสร้างให้คนไทยทั้งปวงได้เรียนรู้ ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของประวัติศาสตร์ เพื่อให้เข้าใจความเป็นมาของชาติ มีจิตสำนึกในความรักและภาคภูมิใจในความเป็นชาติอย่างมีเหตุผล และปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกได้ กับทั้งผลงานพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ ที่ให้ทั้งความรู้ทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ สังคมและศิลปวัฒนธรรมของชาตินั้นๆ กับทั้งเป็นสิริมงคลและเกียรติอันสูงยิ่งแก่วงวิชาการประวัติศาสตร์และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ในโอกาสนี้ สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้อนุมัติปริญญากิตติมศักดิ์และรางวัลรัตโนบลแก่บุคคล องค์กรที่มีผลงาน และได้อุทิศตนเป็นประโยชน์ต่อสังคม และมหาวิทยาลัยจนปรากฏเป็นที่ประจักษ์ ได้เข้ารับพระราชทานในครั้งนี้ ประกอบด้วย ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ศึกษา จำนวน 1 ราย ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรรณวไล อธิวาสน์พงศ์ และรางวัลรัตโนบล จำนวน ๕ ราย 1 องค์กร เข้ารับพระราชทานในครั้งนี้ด้วย ได้แก่ นายกว้าง รอบคอบ, รองศาสตราจารย์ภิยโย ปันยารชุน , เภสัชกรธีระ ฉกาจนโรดม , นายวศิน คำรัตน์ , นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว และ บริษัทซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราโชวาท ความว่า บัณฑิตทั้งหลายได้สำเร็จการศึกษาแล้ว ย่อมมีความตั้งใจดีที่จะนำความรู้ที่ได้ฝึกฝน อบรมมา ไปใช้ประกอบการงานสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าแก่ตนแก่ส่วนรวม แต่การที่บัณฑิตจะนำความรู้ไปใช้ให้เกิดผลที่เป็นประโยชน์ได้แท้จริงนั้น จำเป็นต้องอาศัยคุณธรรมต่าง ๆ เป็นเครื่องประกอบส่งเสริมด้วย ที่สำคัญได้แก่ ความซื่อสัตย์สุจริต ที่กล่าวดังนี้ เพราะความซื่อสัตย์สุจริต เป็นเครื่องควบคุมความคิดและการกระทำของบุคคลให้ปฏิบัติตรง ปฏิบัติจริง ปฏิบัติชอบ ดังนั้น บุคคลผู้หนักแน่นมั่นคงในความซื่อสัตย์สุจริต จึงมุ่งแต่จะนำความรู้ ความคิด และความสามารถทั้งปวง ไปใช้ในทางที่ถูกที่ควร ที่เป็นประโยชน์สร้างสรรค์แต่อย่างเดียวไม่ใช้ในทางทุจริตเบียดเบียน อันเป็นการบ่อนทำลายส่วนรวมและชาติบ้านเมืองให้เสื่อมเสียหาย บัณฑิตทุกคน จึงชอบที่จะฝึกฝน อบรมตนเองให้เป็นผู้ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต จะได้สามารถนำความรู้ที่อุตสาหะเล่าเรียนมา ไปใช้สร้างสรรค์ประโยชน์ คือ ความเจริญก้าวหน้าให้แก่ตนแก่ส่วนรวมได้อย่างแท้จริง