พระมหากรุณาธิคุณพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตราชภัฏกว่าสองล้านคน
“มหาวิทยาลัยราชภัฏ” ทั้ง 38 แห่ง เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีเครือข่ายกระจายทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ และมีบัณฑิตจำนวนมากที่สำเร็จการศึกษา และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 เป็นต้นมา กรมการฝึกหัดครูได้ยกฐานะ “โรงเรียนฝึกหัดครู” ขึ้นเป็น “วิทยาลัยครู” จนครบจำนวน 25 แห่ง ในขณะนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2516 ประกอบด้วย
พ.ศ. 2501 วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา วิทยาลัยครูสวนสุนันทา วิทยาลัยครูจันทรเกษม วิทยาลัยครูเทพสตรี (จ.ลพบุรี) วิทยาลัยครูอุบลราชธานี
พ.ศ. 2502 วิทยาลัยครูนครราชสีมา
พ.ศ. 2504 วิทยาลัยครูเชียงใหม่ วิทยาลัยครูอุดรธานี วิทยาลัยครูสงขลา วิทยาลัยครูสวนดุสิต วิทยาลัยครูพิบูลสงคราม (จ.พิษณุโลก)
พ.ศ. 2505 วิทยาลัยครูมหาสารคาม
พ.ศ. 2506 วิทยาลัยครูยะลา
พ.ศ. 2509 วิทยาลัยครูพระนคร
พ.ศ. 2510 วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา
พ.ศ. 2511 วิทยาลัยครูนครวสวรรค์ วิทยาลัยครูอุตรดิตถ์
พ.ศ. 2512 วิทยาลัยครูเพชรบุรี วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช
พ.ศ. 2513 วิทยาลัยครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ฯ (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยลงกรณ์ ฯ) วิทยาลัยครูหมู่บ้านจอมบึง (จ.ราชบุรี) วิทยาลัยครูธนบุรี วิทยาลัยครูนครปฐม วิทยาลัยครูสกลนคร และวิทยาลัยครูฉะเชิงเทรา (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์)
ต่อมาได้เปิดวิทยาลัยครูเพิ่มอีก 11 แห่ง รวมเป็น 36 แห่ง ดังนี้
พ.ศ. 2515 วิทยาลัยครูรำไพพรรณี (จ.จันทบุรี) วิทยาลัยครูบุรีรัมย์ วิทยาลัยครูภูเก็ต วิทยาลัยครูลำปาง
พ.ศ. 2516 วิทยาลัยครูเพชรบูรณ์ วิทยาลัยครูกำแพงเพชร วิทยาลัยครูเลย วิทยาลัยครูสุรินทร์ วิทยาลัยครูเชียงราย วิทยาลัยครูสุราษฎร์ธานี และวิทยาลัยครูกาญจนบุรี
และในปี พ.ศ. 2541 ได้เปิด “สถาบันราชภัฏ” ใหม่ อีก 5 แห่ง ประกอบด้วย สถาบันราชภัฏกาฬสินธุ์ สถาบันราชภัฏชัยภูมิ สถาบันราชภัฏนครพนม สถาบันราชภัฏร้อยเอ็ด และสถาบันราชภัฏศรีสะเกษ รวมทั้งสิ้นมีสถาบันราชภัฏทั่วประเทศจำนวน 41 แห่ง
จากเดิมวิทยาครูทุกแห่ง ได้เปิดสอนในระดับประกาศนียบัตร 2 หลักสูตร คือ หลักสูตร ป.กศ. (ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา) และหลักสูตร ป.กศ.ชั้นสูง (ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง) ใช้เวลาเรียนระดับละ 2 ปี
ต่อมาเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518 ขึ้น ทำให้วิทยาลัยสามารถเปิดสอนได้ในระดับปริญญาตรี คือ ครุศาสตรบัณฑิต (ค.บ.) ซึ่งในครั้งแรกมีวิทยาลัยครูเปิดสอนเพียง 16 แห่ง ๆ ละ 1 วิชาเอก มีบัณฑิตรุ่นแรก 766 คน
ในปี พ.ศ. 2527 กรมการฝึกหัดครู ได้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู (ฉบับที่ 2) ทำให้วิทยาลัยครูสามารถเปิดสอนสาขาวิชาการอื่นเพิ่มมากขึ้นได้ นอกจากสายครู ตามความต้องการของท้องถิ่นและประเทศชาติ แต่ยังคงเปิดสอนได้เฉพาะในระดับปริญญาตรีเท่านั้น
และในปี พ.ศ. 2538 วิทยาลัยครูทั่วประเทศได้เปลี่ยนเป็น “สถาบันราชภัฏ” ตามพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ พ.ศ. 2538 และยกฐานะเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏ” เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2547 เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2541 ซึ่งต่อมามหาวิทยาลัยราชภัฏนครพนม มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ ได้แยกตัวออกไปเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้แยกตัวออกไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ยังคงร่วมรับพระราชทานปริญญาบัตรกับมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง มาโดยตลอด)
การรับพระราชทานปริญญาบัตร
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปในการพระราชทานปริญญาบัตรให้บัณฑิตวิทยาลัยครูเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2521 ณ สวนอัมพร แก่บัณฑิต 3 รุ่นแรก (รุ่นที่ 1/2518 จำนวน 766 คน รุ่นที่ 2/2519 จำนวน 770 คน และรุ่นที่ 3/2520 จำนวน 1,002 คน) และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 26 – 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523 (เว้นปี พ.ศ. 2522) แก่บัณฑิต 2 รุ่น (รุ่นที่ 4/2521 จำนวน 1,252 คน และรุ่นที่ 5/2522 จำนวน 2,575 คน)
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปในการพระราชทานปริญญาบัตรให้บัณฑิตวิทยาลัยครู 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 3 บัณฑิตรุ่นที่ 6 เมื่อวันที่ 25 – 28 ตุลาคม พ.ศ. 2524 และครั้งที่ 4 บัณฑิตรุ่นที่ 7 ระหว่างวันที่ 17 – 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 (เว้นปี พ.ศ. 2525)
จากนั้นการพระราชทานปริญญาบัตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปในการพระราชทานปริญญาบัตรให้บัณฑิตวิทยาลัยครู สถาบันราชภัฏ และมหาวิทยาลัยราชภัฏเรื่อยมา จนเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10
ปีที่ 40 ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตราชภัฏ
นับจากการพระราชทานปริญญาบัตรให้แก่บัณฑิตวิทยาลัยครูครั้งแรกในปี พ.ศ. 2521 นับถึงปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตวิทยาลัยครูทั่วประเทศ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ยาวนานกว่า 39 ปี (เว้นปี พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2525 และ พ.ศ. 2562)
โดยในปี พ.ศ. 2563 ที่จะมีพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฏเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 15 – 20 ตุลาคม นี้ ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จังหวัดสกลนคร จะนับเป็นปีที่ 40 ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตวิทยาลัยครู สถาบันราชภัฏ และมหาวิทยาลัยราชภัฏ
พระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตราชภัฏ ครั้งที่ 86
การพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตวิทยาลัยครูทั่วประเทศ
ส่วนครั้งที่ 3 และครั้งที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์
จากนั้น การพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 5 จนถึงครั้งที่ 84 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ และต่อมาทรงเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตวิทยาลัยครู สถาบันราชภัฏ และมหาวิทยาลัยราชภัฏ มาโดยตลอด เว้นครั้งที่ 85 (ปี พ.ศ. 2562) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนธิราเทพยวดี เสด็จไปพระราชทานแทนพระองค์
โดยพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฏเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 15 – 20 ตุลาคม นี้ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร นับเป็นครั้งที่ 86 ตลอด 42 ปี ที่ผ่านมา ที่เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตราชภัฏ
บัณฑิตกว่าสองล้านคนที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานปริญญาบัตร
ตลอด 40 กว่าปี ที่ผ่านมา มีบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาทั้งจากวิทยาลัยครู สถาบันราชภัฏ และมหาวิทยาลัยราชภัฏ จำนวน 2,763,103 คน ซึ่งเข้ารับพระราชทานปริญญาทั้งสิ้นจำนวน 2,337,597 คน (84.60 %) แยกเป็น
รับพระราชทาน ฯ จากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 2,284,862 คน
รับพระราชทาน ฯ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ จำนวน 37,080 คน
รับพระราชทาน ฯ จากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนธิราเทพยวดี จำนวน 15,655 คน
มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลฯ กับการเป็นเจ้าภาพพิธีพระราชทานปริญญาบัตร
การรับพระราชทานปริญญาบัตรตั้งแต่ครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2521 จนถึงครั้งที่ 24 จัดขึ้น ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร กรุงเทพ ฯ และนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา แยกจัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตรเป็น 4 ภูมิภาค เพื่ออำนวยความสะดวกแก่บัณฑิต
ภาคเหนือ ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2546 2547 2548 2549 และ 2550
ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ปี พ.ศ. 2554
ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2551 2552 2553 2554 และจนถึงปัจจุบัน
ภาคใต้ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ปี พ.ศ. 2546 2549 2551 2552 และ 2553
ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ปี พ.ศ. 2547 2548 และ 2550
ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ปี พ.ศ. 2554 จนถึงปัจจุบัน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ปี พ.ศ. 2546 2547 2550 จนถึงปัจจุบัน
ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ปี พ.ศ. 2548 และ 2549
ภาคกลางและปริมณฑล ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 ถึงปี พ.ศ. 2559 ส่วนปี พ.ศ. 2560 2561 และ 2562 จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จ.นนทบุรี
นับได้ว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวราชภัฏมาอย่างยาวนาน สมควรที่ชาวราชภัฏ (คนของพระราชา) ทุกคน จะต้องซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณและเทิดทูนไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมของพวกเราตลอดไป
พระเมตตา บรรจบ ครบดิถี
ถึงปีที่ สี่สิบ ทิพยเสถียร
เป็นครั้งที่ แปดสิบหก ดิลกเธียร
ทรงพากเพียร พระราชทาน ปริญญา
พระมหา กรุณาธิคุณ อันอุ่นเกล้า
มอบร่มเงา เกื้อหนุน ทรงคุณค่า
แก่บัณฑิต ราชภัฏ วิวัฒนา
สืบศรัทธา แสงธรรม นำบวร
ราชภัฏ น้อมรำลึก ผนึกมั่น
พระราชา ทรงสร้างสรรค์ สโมสร
พร้อมองค์พระ ราชินี ฯ ศรีนาคร
สถาพร พูนสวัสดิ์ พิพัฒน์เทอญ
รองศาสตราจารย์นพดล จันทร์เพ็ญ : ประพันธ์
เรียบเรียงโดย ดร.สว่าง ภู่พัฒน์วิบูลย์
ที่ปรึกษาที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ
ประธานคณะกรรมการดำเนินงานในงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตร
ปรับปรุงโดย งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี