guideubon

 

 

สภามหาวิทยาลัยฯ เสนอ รศ.ธรรมรักษ์ นั่งอธิการบดี ม.ราชภัฏ ต่ออีกสมัย

อธิการบดี-ราชภัฏอุบล-01.jpg

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 พลเอก นิรุทธ เกตุสิริ นายกสภามหาวิทยาลัย ฯ เป็นประธานการประชุมสภามหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ครั้งที่ 2/2564 มีมติเห็นชอบเสนอชื่อ “รองศาสตราจารย์ธรรมรักษ์ ละอองนวล” เพื่อทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ต่ออีกสมัย

รองศาสตราจารย์ธรรมรักษ์ ละอองนวล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี คนปัจจุบัน ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งเป็นอธิการบดีครั้งแรก เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2560 และจะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ในวันที่ 17 มีนาคม 2564 นี้

สภามหาวิทยาลัย ฯ ได้เริ่มกระบวนการสรรหาอธิการบดีตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว มี ศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์ไพจิตร ปวะบุตร (อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข) กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธานคณะกรรมการสรรหาผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี และเสนอรายชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดีต่อสภามหาวิทยาลัย ฯ จำนวน 2 ราย ซึ่งสุดท้ายจากผลงานเชิงประจักษ์ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ทำให้กรรมการสภามหาวิทยาลัย ฯ ยังไว้วางใจเลือก รองศาสตราจารย์ธรรมรักษ์ ละอองนวล นั่งในตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ต่อไปอีกวาระ

สรรหาอธิการ-ราชภัฏอุบล-01.jpg
การเสนอแนวทางการบริหารมหาวิทยาลัย สรรหาอธิการบดี ม.ราชภัฏอุบลฯ

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานั้น หลาย ๆ ท่านคงสังเกตเห็นว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มีสีสันข่าวคราวความเคลื่อนต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการร่วมภารกิจสำคัญ ๆ ของจังหวัดมาโดยตลอด รวมทั้งอาสารับผิดชอบงานอีกหลายอย่าง จนได้รับการกล่าวถึงอยู่เสมอ

เบื้องหลังสิ่งเหล่านี้มาจากการนำมหาวิทยาลัยของ รองศาสตราจารย์ธรรมรักษ์ ละอองนวล อธิการบดีคนปัจจุบัน ซึ่งมีบุคลิกกล้าทำ กล้าลุย เป็นนักปฏิบัติ และตัดสินใจรวดเร็ว ภายใต้วิสัยทัศน์ “มหาวิทยาลัยแห่งความสุข” ซึ่งประกอบด้วยยุทธศาสตร์
(1) มหาวิทยาลัยแห่งสุขภาวะที่ดี
(2) มหาวิทยาลัยสีเขียว
(3) มหาวิทยาลัยแห่งการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ
(4) มหาวิทยาลัยที่ดีที่เหมาะสมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
(5) การสร้างการมีส่วนร่วมและบริหารจัดการภายใต้หลักธรรมาภิบาล

ในปีที่ผ่านมานั้น ในขณะที่วงการอุดมศึกษาประสบภาวะวิกฤตเรื่องจำนวนนักศึกษาที่ลดน้อยถ้อยลง ซึ่งเป็นปัญหาที่ทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศต้องเจอ แต่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานียังคงยืนหยัดได้รับความเชื่อใจจากสังคม จนมียอดนักศึกษาใหม่เข้าเรียนสูงเป็นอันดับที่ 3 ของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่งทั่วประเทศ (รองจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี)

อธิการบดี-ราชภัฏอุบล-02.jpg

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เป็นผลมาจากการดำเนินยุทธศาสตร์ข้างต้น ทั้งการพัฒนาอาคาร สถานที่ สนามกีฬา และสิ่งแวดล้อมทางกายภาพเพื่อเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาสุขภาวะและการศึกษา การขยายความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน ทำให้จำนวนนักศึกษาต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือแม้กระทั่งนโยบายการจัดการขยะในมหาวิทยาลัยที่เป็นต้นแบบให้หน่วยงานต่าง ๆ มาขอถ่ายทอดองค์ความรู้ในการปฏิบัติ

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายงานที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี อาสาเป็นหัวหอกของจังหวัดอุบลราชธานี ในการดำเนินกิจกรรมในฐานะตัวแทนของจังหวัดและสร้างชื่อเสียงมากมาย เริ่มจากการจัดกิจกรรม “Olympic Day Run 2017” เมื่อปี 2560 ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ฯ ในการจัดงาน มีผู้ร่วมวิ่งมากกว่า 20,000 คน เป็นสถิติของจังหวัด

และผลงานที่เราชาวอุบล ฯ จดจำกันได้ดีคือ การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 46 “ราชภัฏอุบลราชธานีเกมส์” เมื่อเดือนมกราคม ปี 2562 ที่ผ่านมา ที่ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของ รองศาสตราจารย์ธรรมรักษ์ ละอองนวล และชาวมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ที่สร้างชื่อเสียง ความสุข ความเชื่อมั่น และกระตุ้นการใช้จ่ายในพื้นที่ได้อย่างมหาศาล

มิติใหม่-กีฬามหาวิทยาลัย-02.jpg

การจัดการแข่งขันกีฬาครั้งนั้น นำไปสู่การเสนอตัวเป็น “Sport City” หรือ “เมืองกีฬา” ของจังหวัดอุบลราชธานี รวมทั้งได้รับความไว้วางใจจากสภากีฬามหาวิทยาลัยอาเซียน (AUSC) ให้จังหวัดอุบลราชธานีในฐานะตัวแทนประเทศไทย เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยอาเซียน ครั้งที่ 20 ซึ่งล่าสุดเลื่อนหนีโควิดไปกำหนดจัดในเดือนมิถุนายน ปี 2565

อธิการบดี-ราชภัฏอุบล-03.jpg

อีกสิ่งหนึ่งที่เราเห็นในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ก็คือภาพลักษณ์ของนักศึกษาและภาพลักษณ์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ที่ “ติดดิน และมีจิตอาสา” ทั้งหมดนี้ถูกถ่ายทอดมาจากบุคลิกส่วนตัวของอธิการบดี โดยเฉพาะเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่จังหวัดอุบลราชธานีและภาคอีสานในปี 2562 ที่เราเห็นข่าวทีมนักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีร่วมกับแพ็คกระสอบทรายเพื่อป้องกันน้ำท่วมที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ และจุดต่าง ๆ ทั่วเทศบาลนครอุบลราชธานี รวมทั้งการลงพื้นที่ฟื้นฟูชุมชนต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบ

อธิการบดี-ราชภัฏอุบล-04.jpg

ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด – 19 นั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ได้อาสาจัดบริการอาหารกลางวันและอาหารเย็นจากวัตถุดิบต่าง ๆ ที่ปลูกในพื้นที่มหาวิทยาลัย ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบอาชีพ และยังมีโครงการให้ทุนนักศึกษาปี 2, 3 และ 4 จำนวน 1,500 คน กว่า 15 ล้านบาท เพื่อทำงานและเก็บฐานข้อมูลในชุมชนของตนอีกด้วย

อธิการบดี-ราชภัฏอุบล-05.jpg

รองศาสตราจารย์ธรรมรักษ์ ละอองนวล ปัจจุบันอายุ 56 ปี เป็นชาวจังหวัดลำปาง จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และปริญญาโทจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) เริ่มรับราชการที่วิทยาลัยครูอุบลราชธานี เมื่อปี 2532 เป็นเวลาจนถึงปัจจุบันกว่า 32 ปี มุ่งมั่นนำมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี อีก 4 ปี สู่ “มหาวิทยาลัยที่สร้างความสุขให้ชุมชน” ด้วยการเป็นกำลังในพัฒนาท้องถิ่น ผ่านการจัดการศึกษาด้วยหลักสูตรที่สร้างบัณฑิตให้ตรงตามความต้องการและรักท้องถิ่น ทำงานเป็น และมีจิตอาสา รวมทั้งสร้างมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีให้เป็นกำลังของสังคม ซึ่งจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน... คิดว่าชาวอุบล ฯ ทุกคนคงเอาใจช่วย

อธิการบดี-ราชภัฏอุบล-06.jpg

อธิการบดี-ราชภัฏอุบล-07.jpg

อธิการบดี-ราชภัฏอุบล-08.jpg

อธิการบดี-ราชภัฏอุบล-09.jpg

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511