รัฐศาสตร์ ม.อุบลฯ เปิดศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค
วันศุกร์ที่ 5 มีนาคม 2564 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดตั้ง “ศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค” และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมี นางประกายรัตน์ ต้นธีระวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธานเปิด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวต้อนรับ
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ H.E. Dr. Sarah Taylor เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย H.E. Mrs. Helene Budliger Artieda เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย Ms. Cynthia Veliko ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Mr. Renaud Meyer ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย Mr. Phill Robertson รองผู้อำนวยการ ฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำภูมิภาคเอเชีย เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ให้เกียรติมาร่วมพิธีเปิดศูนย์ครั้งนี้
ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนส่วนภูมิภาค กล่าวสุนทรพจน์ และนางสาววริศรา คำดี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แสดงทัศนะการปกป้องสิทธิสตรีในชุมชนที่เป็นชนบทในฐานะที่เธอเองเป็นสตรีและเป็นเยาวชน
สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคครั้งนี้ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการสร้างกลไกและแนวทางอย่างเป็นระบบในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในทุกภาคส่วนของสังคม ศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือสามารถเข้าถึงการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนได้โดยสะดวก รวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์
นางประกายรัตน์ ต้นธีระวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ในนามกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในการจัดตั้งศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนส่วนภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แห่งที่ 2 และเป็นศูนย์ประสานงาน แห่งที่ 11 ของประเทศ และมีกำหนดจะเปิดศูนย์ศึกษาและประสนงานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เพิ่มอีก 1 แห่ง ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จังหวัดยะลา ซึ่งจะเป็นแห่ง 12 ของประเทศ
การดำเนินกิจกรรมผ่านมาเป็นการดำเนินกิจกรรมผ่านคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ ประกอบด้วย คณาจารย์ของมหาวิทยาลัย ผู้แทนหน่วยงาน ภาครัฐและเอกชน ตลอดจนภาคประชาชนในพื้นที่ที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ ในการคัดเลือกเข้ามาเป็นกรรมการ และมีการดำเนินงานครบทุกด้าน มีการขับเคลื่อนคู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับการศึกษาพื้นฐาน (5 ช่วงชั้น) ที่คณะกรรมการได้จัดทำขึ้นโดยความร่วมมือของบุคลากรกระทรวงศึกษาธิการ การจัดอบรมวิทยากร การจัดโครงการเยาวชนคนรุ่นใหม่ใส่ใจและยืนเคียงข้างสิทธิมนุษยชน การจัดห้องเรียนสิทธิมนุษยชน การทำกิจกรรมสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ของละศูนย์
และทุกปีจะมีการจัดทำแผนการดำเนินงานของศูนย์ เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนที่เหมาะสมกับบริบทในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะเป็นกลไกที่สำคัญและมีประสิทธิภาพในการร่วมกันสร้างวัฒนธรรมแห่งการเคารพสิทธิมนุษยชนให้เกิดแก่ผู้คนในสังคม เกิดความตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ เกิดการเคารพซึ่งกันและกัน จนเกิดภาพซึ่งทุกฝ่ายต่างมุ่งหวังที่จะเห็นนั่นก็คือ “สังคมแห่งสันติสุข” ที่ทุกคนต่างมีรอยยิ้มมีความรักให้กัน เกิดการร่วมมือกันพัฒนาโดยไม่ทิ้งผู้ใดไว้เบื้องหลัง นำไปสู่การพัฒนาสังคมไทยอย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ภาพ/ข่าว