guideubon

 

 

พระราชทานสมณศักดิ์ พระเทพวชิรญาณ วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี

พระเทพวชิรญาณ-วัดหนองป่าพง-01.jpg

วันอาทิตย์ที่ 2 เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช 2564 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณมหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดชสยามินทราธิเบศรราชวโรดมบรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายจรัลธาดา กรรณสูต  องคมนตรี เชิญสัญญาบัตรพัดยศและผ้าไตรไปถวายแด่ พระเทพวชิรญาณ ภาวนาวิธานโกศล วิมลศาสนกิจจาทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี ณ วัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

โดยมีพระบรมราชโองการ โปรดพระราชทานสัญญาบัตร ตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ 5 รูป คือ พระครูปลัด 1 พระครูวินัยธร 1 พระครูสังฆรักษ์ 1 พระครูสมุห์ 1 พระครูใบฎีกา 1

ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2564

ภาพ/ข่าวโดย สุขสันติ์ แก้วสง่า

พระเทพวชิรญาณ-วัดหนองป่าพง-02.jpg

พระเทพวชิรญาณ (เลี่ยม ฐิตธมฺโม) เป็นพระภิกษุฝ่ายอรัญวาสี ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหนองป่าพงถัดจากพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) ด้วยนิสัยมักน้อย สันโดษ ถ่อมตน จึงเป็นที่เคารพของพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก เมื่อครั้งหลวงพ่อชา ท่านอาพาธหนัก ได้ขอให้พระอาจารย์เลี่ยม รับตำแหน่งเจ้าอาวาสแทน ทำให้ท่านต้องรักษาการแทนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

พระเทพวชิรญาณ (เลี่ยม ฐิตธมฺโม) นามเดิม เลี่ยม จันทำ เกิดเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2484 ที่บ้านโคกจาน ตำบลทุ่งไชย อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ บิดาชื่อนายเพ็ง จันทำ มารดาชื่อนางเป้ง จันทำ มีพี่น้องทั้งหมด 6 คน โดยท่านเป็นคนที่ 4

พระอาจารย์เลี่ยม ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อปี พ.ศ 2504 โดยมีพระครูถาวรชัยเขต เป็นพระอุปัชฌาย์ พระทิพย์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระจันลา เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และสามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอกในปี 2507

ในปี 2512 พระอาจารย์เลี่ยม ได้ออกเดินทางเสาะแสวงหาครูบาอาจารย์เพื่อเรียนรู้ธรรม จนได้มาพบสำนักของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) วัดหนองป่าพง ซึ่งเป็นวัดที่ร่มรื่น สะอาดสะอ้าน เสนาสนะมีระเบียบเรียบร้อย ดูแล้วเย็นใจ และได้กราบนมัสการหลวงพ่อชา ขอฝากตัวเป็นศิษย์ ในการนี้เอง หลวงพ่อชา ท่านได้เมตตาเปลี่ยนบริขารทุกอย่างให้หมด ระเบียบปฏิบัติของหลวงพ่อชา ถือว่าเข้มงวดมาก แต่หลวงพ่อเลี่ยมก็ไม่ได้ย่อท้อแต่อย่างใด เพราะเคยฝึกมาตั้งแต่สมัยอยู่ที่วัดเดิม ซึ่งถือว่าตรงกับรูปแบบของตัวเองมากกว่าที่จะสร้างความยุ่งยากในฝึกฝน เพื่อเข้าถึงแก่นแท้ของพระศาสนา ด้วยความพากเพียร แม้แต่ในวันพระก็ถือ เนสัชชิก คือ การไม่นอนตลอดคืน ก็อยู่ได้อย่างสบาย จนจิตรู้สึกสว่างไสวและมีความสุขจากการปฏิบัติธรรม

พระเทพวชิรญาณ-วัดหนองป่าพง-03.jpg

สมณศักดิ์

พ.ศ. 2544 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระวิสุทธิสังวรเถร

พ.ศ. 2549 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชภาวนาวิกรม อุดมธรรมสิทธิ์ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

พ.ศ. 2564 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพวชิรญาณ ภาวนาวิธานโกศล วิมลศาสนกิจจาทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

พระเทพวชิรญาณ-วัดหนองป่าพง-04.jpg

พระเทพวชิรญาณ-วัดหนองป่าพง-05.jpg

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511