พระราชทานตั้งสมณศักดิ์ พระปัญญาวชิรโมลี วัดป่าศรีแสงธรรม
วันที่ 2 พฤษภาคม 2564 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี เชิญสัญญาบัตร พัดยศ และผ้าไตร ไปถวายแด่ พระปัญญาวชิรโมลี ณ วัดป่าศรีแสงธรรม บ้านดงดิบ ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์พระครูวิมลปัญญาคุณ วัดป่าศรีแสงธรรม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพระราชาคณะ มีนามว่า พระปัญญาวชิรโมลี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน พุทธศักราช 2564
พระปัญญาวชิรโมลี (พระครูวิมลปัญญาคุณ) นามเดิม นพพร สู่เสน ฉายา ธีระปัญโญ พรรษา 25 อายุ 48 ปี เป็นที่รู้จักในวงกว้างว่าเป็น "พระนักพัฒนา" จากการที่เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรม หรือ “โรงเรียนเสียดายแดด” เพราะท่านพระครูวิมลปัญญาคุณ ได้นำความรู้ที่ได้จากการศึกษาโซลาร์เซลล์มาต่อยอดเป็นพลังงานทดแทนไว้ใช้ในโรงเรียน และสร้างระบบ Smart Farm, รถเข็นนอนนา (สถานีไฟฟ้าเคลื่อน), บ้านกินแดด, รถไฟฟ้า Ev Car จากแผงโซลาร์เซลล์ เป็นต้น จนทำให้ลูกศิษย์บางคนตั้งฉายาให้ท่านทั้ง “พระเสียดายแดด” และ “พระครูโซลาร์เซลล์
นอกจากเรื่องพลังงานแล้วยังนำความรู้ทางการเกษตรมาพัฒนาชุมชนพื้นที่ 20 ไร่ ของวัดป่าศรีแสงธรรม นั้น มีพื้นที่แปลงนา เพื่อให้โรงเรียนศรีแสงธรรม ใช้เป็นแปลงนาสาธิตให้นักเรียนรู้จักวิชาดำนาและเกี่ยวข้าวเอง จนได้ผลผลิตข้าวเปลือกมาเป็นอาหารกลางวัน ปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นแปลงสาธิตโคก หนอง นา และได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อโครงการว่า ‘’โครงการพระราชทานโคกหนองนา แห่งน้ำใจและความหวัง” วัดป่าศรีแสงธรรม และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ มาสนับสนุนสร้างศาลาปฏิบัติธรรม ชื่อ ศาลาปฏิบัติธรรมโคก หนอง นา ณ วัดป่าศรีแสงธรรม เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและเป็นการสืบทอดบวรพุทธศาสนาด้วย
วัดป่าศรีแสงธรรมและโรงเรียนศรีแสงธรรม จึงเป็นทั้งศาสนสถานและสถาบันการศึกษาที่มีวิวัฒนาการทางการพัฒนาตั้งแต่อดีตจนกระทั่งถึงปัจจุบัน นับได้ว่า เป็นสถาบันที่มีโครงสร้างและหน้าที่เกื้อกูลให้เกิดภารกิจแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ในการแก้ปัญหาภัยแล้ง ลดปัญหาความอดอยากหิวโหย หรืออาจกล่าวได้ว่ามีผลสัมฤทธิ์และผลผลิตทั้งรูปธรรมและนำมาทำจากการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติ จนเกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลและแก่สังคมในทุกมิติ
จึงอาจกล่าวได้ว่าโรงเรียนศรีแสงธรรม มีวัดป่าศรีแสงธรรมเป็นสถาบันหลักของการพัฒนาที่เป็นต้นแบบในการพัฒนาชุมชนและสังคมเพื่อความยั่งยืน ดังที่หลายหน่วยงานได้เข้ามาศึกษาดูงานและประสานเครือข่ายความร่วมมือ แม้ว่าจะเป็นหน่วยงานหรือองค์กรชุมชน ต่างได้นำแนวทางของการประยุกต์หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นำไปสู่การประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะการพัฒนาคนโดยมีแบบแผนการปรับปรุงกายภาพของครัวเรือนไทยในชนบทให้เป็นผู้บริหารจัดการที่ดีและเป็นผู้ถ่ายทอดอย่างมีประสิทธิภาพ จนเกิด ’’ชุมชนเพื่อการจัดการตนเอง’’ ในด้านพลังงานและสามารถลดปัญหาของชุมชนในทุกๆ ด้านส่งผลให้คุณภาพชีวิตของพลเมืองไทยจะสามารถฟันฝ่าอุปสรรค และวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) และภาวะเศรษฐกิจถดถอยลงได้อย่างเป็นรูปธรรม และมีความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ มีระบบการบริการจัดการพลังงานที่ทันสมัยต่อไปจะเป็นต้นแบบด้านพลังงานของประเทศในหลายงานวิจัย
ทั้งนี้ วัดป่าศรีแสงธรรม ยังเป็นสถานที่สำหรับฝึกอบรมตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ "โคก หนอง นา พช." จังหวัดอุบลราชธานี กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคก หนอง นา จำนวน 11 รุ่น ๆ ละ 100 คน ได้เริ่มทำการฝึกอบรมตั้งแต่ เดือนกุมภาพันธ์ 2564 ปัจจุบันจัดฝึกอบรมไปแล้ว 9 รุ่น คงเหลือที่รอการดำเนินการฝึกอบรมอยู่ 2 รุ่น เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา (COVID-19) โดยมีระยะเวลา 5 วัน 4 คืน และมีฐานการเรียนรู้ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ จำนวน 10 ฐาน ประกอบด้วย 1)ฐานคนมีไฟ 2)ฐานคนมีน้ำยา 3)ฐานคนเอาถ่าน 4)ฐานรักษ์แม่ธรณี 5)ฐานรักษ์แม่โพสพ 6)ฐานคนรักษ์สุขภาพ 7)ฐานคนรักษ์ดิน 8)ฐานคนรักษ์ป่า 9)ฐานคนรักษ์น้ำ 10)ฐานคันนาทองคำ