รพ.50 พรรษาฯ อุบลฯ จัดเวิร์คช็อป การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) ตามแนวคิดขององค์การอนามัยโลก เป็นการดูแลผู้ป่วยและครอบครัว ให้สามารถเผชิญหน้ากับความเจ็บป่วยที่คุกคามชีวิต ได้อย่างมีคุณภาพชีวิต เป็นรูปแบบการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเผชิญกับความเจ็บป่วย เตรียมพร้อมที่จะรับมือกับสภาพความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และช่วยบรรเทาความโศกเศร้าโดยไม่พยายามเร่งรัดหรือเหนี่ยวรั้งการตาย
โรงพยาบาล 50 พรรษามหาวชิราลงกรณ เล็งเห็นความสำคัญว่า ควรพัฒนาการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองในทุกสถานบริการสุขภาพ จึงจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง เพื่อพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ในสถานบริการระดับต่างๆ ให้มีความรู้ความสามารถในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เพื่อสามารถจัดบริการนี้ให้แก่ผู้ป่วยและครอบครัว รวมถึงการสร้างเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการส่งต่อผู้ป่วยและทำให้เกิดการดูแลที่ต่อเนื่อง โดยมีผู้เข้ารับการอบรมหลายกลุ่ม อาทิ พระภิกษุ แพทย์ พยาบาล บุคลาการจาก รพสต. จำนวน 100 คน ระหว่างวันที่ 29-31 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา
นพ.เศวต ศรีคีรี ผู้อำนวยการ โรงพยาบาล 50 พรรษามหาวชิราลงกรณ กล่าวว่า บุคลากรทางการแพทย์ถูกฝึกมา เรียนมาในลักษณะต้องตอบโต้ ทุกอย่างต้องมีคำตอบให้กับผู้ป่วยหรือญาติพี่น้องของผู้ป่วย การเข้ารับการอบรมโครงการนี้ จะทำให้มีมิติของการฟังเพื่อให้เกิดความเข้าใจและการเรียนรู้ร่วมกัน เช่น เดิมหมอมักจะคิดว่า ทุกอย่างต้องดีที่สุดในมิติของหมอ แต่โดยความเป็นจริง อาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดของคนไข้หรือของญาติก็ได้ เราต้องประเมินว่า ผู้ป่วยหรือญาติมีจุดมุ่งหมายก่อนเสียชีวิตอย่างไร ซึ่งตรงนี้จะมีการตกลงร่วมกันของบุคคลที่เกี่ยวข้อง
ในจังหวัดอุบลราชธานี มีแผนกดูแลผู้ป่วยแบบประคองแยกเป็นแผนกชัดเจนอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ และ รพ.50 พรรษามหาวชิราลงกรณ จะมีบุคลากรที่ผ่านการอบรมการดูแลผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด และอยู่ในระยะบั้นปลายของโรค ทุกอย่างจะมีการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอนทั้งตัวผู้ป่วยเอง ตัวญาติเอง เช่น เรื่องพินัยกรรม เรื่องการสั่งเสีย รวมถึงเรื่องความเชื่อทางศาสนา ทางสังคม เหล่านี้จะอยู่ในกลุ่มการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง
ผู้ป่วยแบบประคับประคอง เมื่อเริ่มยอมรับหรือ เริ่มปรับตัวปรับใจแล้ว จะกล้าที่จะบอกความรู้สึกข้างในว่ายังต้องการอะไรอยู่ หรือกังวลเรื่องอะไร หรืออยากให้ญาติทำอะไร ถึงวันที่จะต้องตายก็จะไม่มีความกังวลหลงเหลืออยู่อีก เป็นการปลดล็อคสิ่งที่ค้างคาใจให้หมด
บางเรื่องอาจไม่มีความจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องได้รับการรักษาต่างๆ แต่ด้วยความที่หมอหรือเจ้าหน้าที่อาจกังวลว่า ยังไม่ได้ทำความเข้าใจกับผู้ป่วยหรือญาติๆ ว่า ต้องการแค่ไหนในชีวิตเกี่ยวกับการรักษา เช่น บางคนอาจไม่ต้องการให้ใส่ท่อช่วยหายใจ ไม่ให้ทำอย่านั้นอย่างนี้ เรียกว่าการทำ "สมุดเบาใจ" หรือการบอกความต้องการเกี่ยวกับการรักษาช่วงสุดท้ายของชีวิต ซึ่งถ้ามีการตกลงกันไว้ ทุกฝ่ายก็สามารถดูแลได้ และเข้าใจกัน เป็นการประคับประคองให้ผู้ป่วยได้รับความสุขสบาย ไม่ทุกข์ทรมานจากการรักษาพยาบาลที่ไม่เกิดประโยชน์แก่ผู้ป่วย