จ.อุบลฯ มีผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา เกือบ 500 คน
วันที่ 25 พฤษภาคม 2567 นายประวิทย์ ก้อนทองดี ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประจำจังหวัดอุบลราชธานี สรุปผลการรับสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่วันที่ 20 – 24 พฤษภาคม 2567 ทั้ง 25 อำเภอ รวมทั้งสิ้นจำนวน 481 คน
หลังจากนี้ ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ จะดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ภายใน 5 วัน นับแต่วันปิดการรับสมัคร วันสุดท้ายที่จะประกาศรายชื่อผู้สมัคร คือวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 โดยจะแยกเป็นกลุ่มอาชีพ พร้อมหมายเลขประจำตัวของผู้สมัครที่จะใช้สำหรับลงคะแนน
โดยรายชื่อผู้สมัครจะปิดประกาศไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอนั้นๆ รวมทั้งปิดประกาศไว้ที่ศาลากลางจังหวัด และส่งมาที่สำนักงาน กกต.จังหวัด
ผอ.กกต.จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีที่ผู้สมัครไม่พบรายชื่อของตนเองที่ประกาศออกมา ขอให้ไปยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา คือ ศาลจังหวัดอุบลราชธานี ภายใน 3 วัน ตั้งแต่วันที่ประกาศรายชื่อออกมา
ขั้นตอนการเลือกระดับอำเภอ
เริ่มจากวันที่ 9 มิถุนายน 2567 เป็น "วันเลือก สว. ระดับอำเภอ" โดยขั้นตอนการเลือกระดับอำเภอ แบ่งเป็น 2 รอบ ได้แก่
การเลือกรอบที่ 1 เลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน ผู้ได้คะแนนสูงสุดลำดับที่ 1-5 เป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มนั้น และเข้าไปเลือกในรอบ 2 ต่อไป (เหลือกลุ่มละ 5 คน) โดยผู้สมัครรับเลือกฯ เลือกกันเองในกลุ่ม จะเลือกตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนนไม่ได้
การเลือกรอบที่ 2 เลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน ผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 3 ลำดับแรก ของแต่ละกลุ่มเป็นผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอสำหรับกลุ่มนั้น โดยที่ผู้สมัครรับเลือกฯ เลือกผู้สมัครกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกันกลุ่มละ 1 คน แต่จะเลือกกลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองไม่ได้
กลุ่มอาชีพผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา
ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดอุบลราชธานี ทั้ง 481 คน มาจากกลุ่มอาชีพต่างๆ ดังนี้
1. กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง เช่น อดีตข้าราชการ อดีตเจ้าหน้าที่ของรัฐ จำนวน 9 คน
2. กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เช่น ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ หรือผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย จำนวน 14 คน
3. กลุ่มการศึกษา เช่น เช่น ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา จำนวน 126 คน
4. กลุ่มการสาธารณสุข เช่น แพทย์ทุกประเภท พยาบาล เภสัชกร จำนวน 23 คน
5. กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก จำนวน 32 คน
6. กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง จำนวน 20 คน
7. กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคล ซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ จำนวน 7 คน
8. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน จำนวน 12 คน
9. กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมาย (SME) และ ผู้ประกอบกิจการอื่นๆ จำนวน 7 คน
10. กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากข้อ (9) จำนวน 8 คน
11 กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว เช่น มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม จำนวน 6 คน
12. กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน จำนวน 16 คน
13. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตรกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน จำนวน 5 คน
14. กลุ่มสตรี จำนวน 42 คน
15. กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น จำนวน 95 คน
16. กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี นักกีฬา การแสดงและบันเทิง จำนวน 28 คน
17. กลุ่มประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ จำนวน 4 คน
18. กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม จำนวน 5 คน
19. กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ จำนวน 12 คน
20. กลุ่มอื่นๆ จำนวน 10 คน