อุบลไบโอเอทานอล ซื้อขายมันสำปะหลังเฉพาะในอุบลฯ 5 พันล้านบาทต่อปี
กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล รับซื้อผลผลิตมันสำปะหลังจากเกษตรกรใน จ.อุบลฯ ทั้งมันสด และมันเส้น เป็นเงินถึง 5,000 ล้านบาท/ปี แนะเกษตรกรให้บำรุงดินอย่างถูกวิธี นอกจากจะสามารถรักษาสภาพดินไม่ให้เสื่อมเร็วแล้ว ยังทำให้ได้ปริมาณผลผลิตที่คุ้มค่าแก่เกษตรกรอีกด้วย
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 นายประทีป กีรติเรขา ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้เข้ากราบนมัสการและถวายกระเช้าผลไม้แก่ พระเดชพระคุณพระวิโรจน์รัตโนบล เจ้าคณะอำเภอบุณฑริก และ ‘พระสิทฺธิชโย’ พร้อมคณะพระนวกะ ที่บวชตามโครงการอุปสมบทหมู่เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สมเด็จพระญาณสังวร สกลมหาสังฆปรินายก พร้อมด้วยพระสงฆ์บ้านหนองแปน อ.นาเยีย รวมทั้งสิ้น 14 รูป ซึ่งได้เดินทางมาฉันภัตตาหารเพล ณ โรงงานผลิตเอทานอล ‘อุบล ไบโอ เอทานอล’ อ.นาเยีย ตามคำกราบนิมนต์เชิญของผู้บริหารและพนักงานกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล ณ บริเวณห้องประชุมชั้น 2 บริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล จำกัด อ.นาเยีย จ.อุบลฯ โดยมีคณะผู้บริหาร และพนักงานกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล เข้าร่วมถวายภัตตาหาร และรับฟังธรรมเพื่อเป็นมงคลชีวิตจำนวนมาก ก่อนที่กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล จะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการผลิตและการรับซื้อมันสำปะหลังจากเกษตรกรในพื้นที่ จ.อุบลฯ ให้คณะสงฆ์ ตลอดจนเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี และหัวหน้าส่วนราชการที่มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ได้รับทราบ
โดย นายเดชพล เลิศสุวรรณโรจน์ ผู้จัดการใหญ่กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล เปิดเผยว่า ปัจจุบันกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล สามารถผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังได้ประมาณ 380,000 ลิตร/วัน และมีแผนขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกันปัจจุบันสามารถขยายกำลังการผลิตแป้งมันสำปะหลังได้เป็น 700 ตันแป้ง/วัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีกำลังการผลิตแป้งมันได้เพียงวันละ 300 ตันแป้ง นอกจากนี้ยังสามารถผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำที่ผ่านกระบวนการผลิตแป้งมันได้อีกวันละ 36,000 คิว สามารถผลิตไฟฟ้าได้วันละ 1.9 เมกกะวัตต์ และยังสามารถนำน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดแล้วมาปลูกหญ้าเนเปียร์ได้อีกเกือบ 1,000 ไร่
ซึ่งในอนาคตกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอลจะเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซชีวภาพขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 1 เท่าตัว จากการนำกากแป้งมันสำปะหลังมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ และการผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลัง ซึ่งจะทำให้ได้ปริมาณเอทานอลและก๊าซชีวภาพที่เพิ่มขึ้นจากเดิม ที่สำคัญปริมาณการผลิตที่มีเป็นจำนวนมากยังส่งผลให้ปริมาณความต้องการมันสำปะหลังในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียงเพิ่มมากขึ้น โดยจะเห็นว่าปีหนึ่งๆ เฉพาะเม็ดเงินที่กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอลใช้ในการรับซื้อผลผลิตมันสำปะหลังจากเกษตรกร ทั้งมันสด และมันเส้น มีมากถึง 5,000 ล้านบาท/ปี หรือประมาณ 10% ของจีพีพี หรือมูลค่าการซื้อขายผลิตภัณฑ์มวลรวมของ จ.อุบลราชธานี
ดังนั้น จึงเป็นแนวโน้มที่ชี้ให้เห็นว่าเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่จะมีรายได้จากการปลูกมันสำปะหลังอย่างมั่นคง เนื่องจากโรงงานมีความต้องการสูง จึงอยากให้เกษตรกรใฝ่หาความรู้ และเอาใจใส่ในการปลูกมันสำปะหลังให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้น มีปริมาณแป้งที่มากขึ้น โดยเฉพาะการใส่ปุ๋ยหรือธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับมันสำปะหลัง เนื่องจากหากเกษตรกรมีการบำรุงดินอย่างถูกวิธี นอกจากจะสามารถรักษาสภาพดินไม่ให้เสื่อมเร็วแล้ว ยังทำให้ได้ปริมาณผลผลิตที่คุ้มค่าแก่เกษตรกรอีกด้วย