guideubon

 

นศ.ม.อุบลฯ คว้ารางวัล 5.3 แสน ประกวดโครงงาน "กล้าใหม่...สร้างสรรค์ชุมชน"

กล้าใหม่-สร้างสรรค์ชุมชน-อุบล-01.jpg

นักศึกษา สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการยาง ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คว้ารางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 การประกวด โครงงาน"กล้าใหม่...สร้างสรรค์ชุมชน" พร้อมรับเงินรางวัลจำนวน 530,000 บาท (ห้าแสนสามหมื่นบาท) เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร

ภายหลังจากที่นักศึกษาสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการยาง ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เสนอโครงการ เข้าร่วมประกวด โครงงาน"กล้าใหม่...สร้างสรรค์ชุมชน" จัดโดย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จาก 108 สถาบัน และ 465 ทีมทั่วประเทศที่เข้าร่วม ผ่านเข้ารอบ 40 ทีม 20 ทีม และรอบชิงชนะเลิศ 5 ทีมสุดท้าย ซึ่งทีมนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สามารถผ่านมาได้ พร้อมนำเสนอโครงงาน “การเคลือบสระน้ำเลี้ยงปลาด้วยน้ำยางธรรมชาติ” เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา

กล้าใหม่-สร้างสรรค์ชุมชน-อุบล-02.jpg

ผลการตัดสินคณะกรรมการ ทีมนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 พร้อมเงินรางวัลจำนวน 530,000 บาท (ห้าแสนสามหมื่นบาท) มาครอง ส่วนรางวัลชนะเลิศ พร้อมถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้แก่ วิทยาลัยเชียงราย โครงงานพลังน้ำบวกพลังใจกลับไปช่วยชุมชนชาวเขา

ในส่วนของทีมจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่นำเสนอโครงงาน ได้แก่ นางสาวจตุพร สิริพงศ์วิรุฬห์ หัวหน้าโครงการฯ นางสาวธนาพร กอมะณี, นายธีระทรัพย์ สมบูรณ์ และนายชาญณรงค์ สงคราม นักศึกษาสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการยาง ชั้น ปีที่ 4 โดยนำเสนอโครงงาน “การเคลือบสระน้ำเลี้ยงปลาด้วยน้ำยางธรรมชาติ” ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแปรรูปน้ำยางที่ได้เรียนมาใช้ในการแก้ไขปัญหาให้กับโรงเรียนบ้านนาจาน อ.นาเยีย จ. อุบลราชธานี เพื่อการกักเก็บน้ำในสระเลี้ยงปลา ซึ่งพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่จะประสบปัญหาภัยแล้ง และพื้นดินส่วนใหญ่ค่อนข้างจะเป็นดินทราย จึงไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ ดังนั้น จึงได้นำความรู้ที่เป็นทฤษฎีและปฏิบัติเกี่ยวกับการแปรรูปยางธรรมชาติมาบูรณาการให้เกิดประโยชน์

กล้าใหม่-สร้างสรรค์ชุมชน-อุบล-03.jpg

ด้าน อาจารย์ชัยวุฒิ วัดจัง อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า ตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา นักศึกษาในโครงการได้ลงมือปฏิบัติ ดำเนินงาน และปรับปรุงโครงงานตามข้อแนะนำของคณะกรรมการ เพื่อให้ได้ผลสัมฤทธิ์อย่างยั่งยืนต่อชุมชน รวมถึงเก็บเกี่ยวประสบการณ์การเรียนรู้นอกห้องเรียนที่มีค่ายิ่ง จนสามารถผ่านเข้ารอบ 5 ทีมสุดท้าย ในรอบชิงชนะเลิศ และนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการ จนได้มาซึ่งความสำเร็จในครั้งนี้ ตนรู้สึกภูมิใจในนักศึกษาที่สามารถถ่ายทอดโครงงานต่อคณะกรรมการได้เป็นอย่างดี กว่าจะถึงวันนี้ได้ ทีมนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้มีความมุ่งมั่นพัฒนาร่วมงานกัน สามัคคี และทำงานร่วมกันเป็นอย่างดี ซึ่งเชื่อว่าประสบการณ์ความสำเร็จในครั้งนี้ จะส่งผลถึงศักยภาพบัณฑิตที่ดีในอนาคตของ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ด้วย

กล้าใหม่-สร้างสรรค์ชุมชน-อุบล-04.jpg

ภายหลังจากที่เสร็จสิ้นการประกวด ทางโครงการได้นำนักศึกษาทั้ง 5 สถาบัน ที่ได้รับรางวัล ร่วมเดินทางไปทัศนศึกษา ศึกษาดูงานโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ 25 – 27 เมษายน 2558 ซึ่งนักศึกษาจักได้นำควานรู้และประสบการณ์มีเพิ่มพูนพัฒนาในวิชาชีพต่อไป