นศ. ม.อุบลฯ เข้ารอบ 5 ทีมสุดท้าย โครงงาน"กล้าใหม่ สร้างสรรค์ชุมชน"
นักศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการยาง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดโครงงาน "กล้าใหม่...สร้างสรรค์ชุมชน" ปี 10 จากผลงาน 330 โครงการ ใน 99 สถาบันทั่วประเทศ สามารถผ่านสู่รอบ 5 ทีมสุดท้ายได้สำเร็จ ก้าวสู่รอบชิงชนะเลิศ ตัดสินวันที่ 22 เมษายน 2559 ซึ่งทีมที่ชนะเลิศจะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทาน จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัลกว่า 850,000 บาท
โครงงาน "กล้าใหม่...สร้างสรรค์ชุมชน" เป็นโครงการที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนให้นิสิตนักศึกษาได้เพิ่มพูนทักษะความรู้ มีการแสดงออกทางความคิดอย่างสร้างสรรค์ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้นักศึกษาได้นำเอาความรู้และประสบการณ์ ที่ได้รับจากสถาบันมาพัฒนาชุมชนที่อาศัยอยู่หรือเข้าถึงได้ ซึ่งในปีที่ผ่านมา (ปี 2558) ทีทีมนักศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการยาง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ส่งข้อเสนอโครงการ“การเคลือบสระน้ำเลี้ยงปลาด้วยน้ำยางธรรมชาติ” สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 มาครอง
สำหรับในปีนี้ ได้ส่งโครงการ “หมอนขิดจากน้ำยางพารา ต่อยอดภูมิปัญญาบ้านศรีฐาน” เข้าร่วมประกวด จากผลงาน 330 โครงการ ใน 99 สถาบันทั่วประเทศ คัดเลือกเหลือ 40 โครงการ 20 โครงการ และ 5 โครงการ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งทีม ม.อุบลฯ สามารถนำความสำเร็จอีกครั้ง ในรอบชิงชนะเลิศ
ความสำเร็จในครั้งนี้ อาศัยความร่วมมือจากทุกระดับ ทั้งระดับ มหาวิทยาลัย คณะ สาขาวิชา ตลอดจนอาจารย์ นักศึกษา และชุมชน ซึ่งมี นายโยธิน ศรีไทย นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการยาง มหาวิทยาลัยอุบลราชาธานี เป็นหัวหน้าโครงการ และ อาจารย์ชัยวุฒิ วัดจัง ดร. ศันศนีย์ ศรีจันทร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ
อาจารย์ชัยวุฒิ วัดจัง อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า หมอนขิดจากน้ำยางพารา เป็นโครงการต่อยอดภูมิปัญญาบ้านศรีฐาน ซึ่งชุมชนบ้านศรีฐาน เป็นชุมชนที่มีการสืบทอดวิถีการผลิตหมอนขิด โดยใช้นุ่นจากรุ่นสู่รุ่นมาเป็นเวลานาน ขณะนี้กลุ่มแม่บ้าน ประสบกับปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจ อันเนื่องมาจากใยนุ่นในขั้นตอนการผลิต ประกอบกับนุ่นเป็นวัตถุดิบที่กำลังจะขาดแคลน และมีราคาแพง ในกรณีที่มีการสั่งซื้อ
กลุ่มนักศึกษาจึงได้เล็งเห็นถึงความเป็นไปได้ ที่จะนำยางพาราที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้ทดแทน โดยแนวความคิดนี้ถือเป็นการบูรณาการ ระหว่างสิ่งที่เรียนกับชีวิตจริงได้อย่างกลมกลืน โดยนำความรู้เรื่องเทคโนโลยีการยาง มาทดลองทำไส้หมอนขิดจากยางพารา เพิ่มมูลค่าของยางพารา และหวังให้ทดแทนนุ่นที่มีฝุ่น สร้างตลาดใหม่ให้กับกลุ่มผู้รักสุขภาพ และชาวต่างประเทศ
ในส่วนของการนำเสนอผลงานในครั้งนี้ ซึ่งเป็นโครงการบูรณาการความรู้ทุกสาขา นำโดยสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการยาง สาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับคณะบริหารศาสตร์ สาขาการตลาด ส่วนนักศึกษาที่นำเสนอ ได้แก่
- นางสาวพรรทิวา นามบุญ นักศึกษา ชั้นปี 4 สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการยาง
- นางสาวฟาริดา แสนศรี นักศึกษา ชั้นปี 4 สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการยาง และ
- นางสาวอภิชญา คำทวี ชั้นปีที่ 3 สาขาการตลาด คณะบริหารศาสตร์
นี่คือผลงานอีกหนึ่งความภาคภูมิในของนักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่สามารถบูรณาการการเรียนร่วมกับการพัฒนา มาสู่การการสืบทอดวิถีการผลิตหมอนขิด ส่งเสริมอาชีพ เพิ่มมูลค่าสินค้าท้องถิ่น ได้อย่างลงตัว
ร่วมส่งกำลังใจให้กับทีม นักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในการแข่งขันโครงงาน "กล้าใหม่...สร้างสรรค์ชุมชน" ปี 10 ในรอบชิงชนะเลิศ ในวันที่ 22 เมษายนศกนี้