สาสุขอุบลฯ จัดพิธีตัดช่อดอกกัญชา “ช่อปฐมฤกษ์"
วันที่ 27 ธันวาคม 2564 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี จัดพิธีตัดช่อดอกกัญชา “ช่อปฐมฤกษ์ จังหวัดอุบลราชธานี” โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ประธานคณะทำงานเพื่อพิจารณาพื้นที่เพาะปลูกกัญชาทางการแพทย์ และหัวหน้าส่วนราชการ รวมถึงผู้แทนคณะทำงานฯร่วมทำพิธีตัดช่อดอกกัญชา “ช่อปฐมฤกษ์ จังหวัดอุบลราชธานี” หวัง ลั่นฆ้องการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้ให้เกษตรกร ส่งเสริมเศรษฐกิจทางเลือกของจังหวัดอุบลราชธานี
นายสุวิทย์ โรจนศักดิ์โสธร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ภายหลังจากกระทรวงสาธารณสุข ประกาศปลดล็อกกัญชา-กัญชง จากบัญชียาเสพติดให้โทษ รวมถึงการอนุญาตให้นำส่วนประกอบอื่นที่ไม่จัดเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ได้แก่ ใบ, กิ่ง, ก้าน, ราก, เปลือก, ลำต้น, เส้นใย ตลอดจนสารสกัด มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย การนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมทั้งให้ประชาชนสามารถนำไปใช้ประกอบอาหารได้
โดยภายในระยะ 5 ปีหลังจากพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ได้มีผลบังคับใช้ (ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567) การปลูกเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ หรือการรักษาผู้ป่วย เกษตรกรต้องรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ เพื่อดำเนินการตามมาตรฐานและถูกกฎหมาย ประกอบกับกรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก ได้จัดทำโครงการปลูกและแปรรูปกัญชา สำหรับใช้ทางการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านไทยในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ร่วมวิสาหกิจชุมชนขึ้น (โครงการกรมแพทย์แผนไทย ระยะที่ 2 : 150 รพ.สต.)
ซึ่งขณะนี้จังหวัดอุบลราชธานี มีผู้ประกอบการภายใต้โครงการฯ ที่ได้รับหนังสือสำคัญผลิต (ปลูก) ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 แล้ว จำนวน 2 ราย ได้แก่
1.รพ.สต.ช่องเม็ก อำเภอสิรินธร ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนอคิลานังเภสัชภิรมย์ อำเภอสิรินธร
2.รพ.สต.หนองเมือง อำเภอม่วงสามสิบ ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนม่วงสามสิบเกษตรสมาร์ทฟาร์ม อำเภอม่วงสามสิบ
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวต่อไปว่า วันนี้ (27 ธ.ค. 64) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี จึงได้กำหนดจัดพิธีตัดช่อดอกกัญชา “ช่อปฐมฤกษ์ จังหวัดอุบลราชธานี” ซึ่งเป็นผลผลิตของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านช่องเม็ก ร่วมกับ วิสาหกิจชุมชนอคิลานังเภสัชภิรมย์ โดยได้ดำเนินการภายใต้โครงการกรมแพทย์แผนไทย ระยะที่ 2 ดังกล่าวข้างต้น และเป็นไปตามแนวทางที่กฎหมายกำหนด ดังนี้
1. ใช้เมล็ดพันธุ์ไทยที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 120 เมล็ด ปลูกในแปลงปลูกภายในโรงเรือน เพาะปลูกได้ 2 รอบ/ปี ในพื้นที่ 48 ตารางเมตร ซึ่งผลผลิตที่คาดว่าจะได้จากการปลูกในรอบนี้ คือ กัญชาสด (ใบสดและช่อดอก) ประมาณ 50 กิโลกรัม (คิดเป็นน้ำหนักแห้ง 10 กิโลกรัม)
2. ผลผลิตวัตถุดิบส่วนยอดและช่อดอกกัญชา ซึ่งจัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 จำหน่ายผลผลิต กัญชาแห้งที่ได้จากการปลูกให้กับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อจัดเก็บเป็นวัตถุดิบกัญชาในคลังวัตถุดิบกัญชาของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ซึ่งตั้งอยู่ที่กองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพร จ.ปทุมธานี โดยนำไปใช้ผลิตตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ เพื่อสนับสนุนการจัดบริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์ใน สถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศต่อไป
3. ผลผลิตวัตถุดิบส่วนอื่นๆ ซึ่งไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ได้แก่ ใบ, กิ่ง, ก้าน, ราก, เปลือก, ลำต้น, เส้นใย สามารถจำหน่ายเพื่อเป็นวัตถุดิบ เพื่อใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ผลิตภัณฑ์สมุนไพร/อาหาร/เครื่องสำอาง) รวมทั้งให้ประชาชนสามารถนำไปใช้ปรุงประกอบอาหารเพื่อรับประทานได้ รวมทั้งผู้ประกอบการสามารถนำไปปรุงประกอบอาหารเป็นเมนูต่างๆ เพื่อจำหน่ายได้ ทั้งนี้ ต้องจัดทำรายงานการปลูก/การจำหน่าย แก่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตามที่กฎหมายกำหนด
ซึ่งการจัดงานวันนี้ มุ่งสร้างต้นแบบในการดำเนินงานด้านกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งเป็นแห่งแรกของจังหวัดอุบลราชธานี โดยจะเป็นแนวทางให้กับหน่วยงาน วิสาหกิจชุมชน ผู้ปลูกกัญชาอื่นๆ ให้ดำเนินการตามแนวทางได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ กัญชาถือเป็นพืชที่มีประโยชน์ทั้งการแพทย์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกร รวมถึงผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ท้ายที่สุดคือสามารถส่งเสริมเศรษฐกิจทางเลือกของจังหวัดอุบลราชธานีได้
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวตอนท้ายว่า ขอฝากพี่น้องประชาชนว่า ขณะนี้จังหวัดอุบลราชธานี มีการจัดบริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์ในโรงพยาบาล ทั้งภาครัฐและเอกชน หากท่านต้องการรับการรักษาโดยใช้ผลิตภัณฑ์ยาที่มีส่วนผสมของกัญชา ท่านสามารถเข้ารับบริการ ณ โรงพยาบาลใกล้บ้านท่าน
ส่วนผู้ประกอบการที่ต้องการซื้อวัตถุดิบกัญชาที่เป็นส่วนอื่นๆ ซึ่งไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ได้แก่ ใบ, กิ่ง, ก้าน, ราก, เปลือก, ลำต้น, เส้นใย เพื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทั้งอาหาร (เช่น อาหารแปรรูป เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท) เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมทั้งซื้อไปปรุงประกอบอาหารเพื่อจำหน่าย ขอให้ซื้อจากแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาต
และขอเน้นย้ำว่า “กัญชา” ยังคงจัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 การปลูกกัญชายังคงต้องขออนุญาตตามกฎหมาย หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่ กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เบอร์โทรศัพท์ 091-1644324