นศ.แพทย์ ม.อุบลฯ คว้ารางวัลชนะเลิศ นำเสนอผลงานวิจัยเวทีระดับชาติ
นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 6 วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลสรรพสิทธิ์ประสงค์อุบลราชธานี คว้ารางวัลชนะเลิศ ในการนำเสนอผลงานวิจัย เรื่อง "การเปรียบเทียบความสามารถในการประเมินภาวะทุพโภชนาการระหว่างการใช้ Nutrition alert form และ GILM criteria ในผู้ป่วยแผนกศัลยกรรมทั่วไป โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์" ซึ่งเป็นงานประชุมวิชาการของศูนย์แพทยศาสตรศึกษาในโครงการผลิตเเพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบททั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย
กิจกรรมประกอบด้วย การบรรยาย และกิจกรรมทางวิชาการ การนำเสนอผลงานวิจัย ของอาจารย์แพทย์ แพทย์พี่เลี้ยง นักวิชาการทางด้านสาธารณสุข และเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาแพทย์ในแต่ละสถาบันส่งผลงานเข้าร่วมนำเสนอในครั้งนี้ด้วย ณ ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 23-26 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา
สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2564 โรงพยาบาลสรรพสิทธิ์ประสงค์ ได้จัดงานประกวดผลงานวิจัยเนื่องในวันมหิดล ซึ่งประกอบด้วยงานวิจัยของแพทย์พี่เลี้ยง อาจารย์แพทย์ และเปิดโอกาสให้นักศึกษาแพทย์ส่งงานวิจัยของเข้าร่วมประกวดเป็นปีแรก ซึ่งนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข นำโดยนศ.พ.สุธารัตน์ สาธุการ หัวหน้าทีมวิจัย และ นศ.พ.วรพนิต โพธิขำ นศ.พ.กัญญาภัค อมรกุล นศ.พ.ธันยพร ชาตกิตติคุณวงศ์ ส่งผลงานเข้าประกวดในครั้งนี้ และสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ พร้อมเงินรางวัล 5,000 บาท
ทั้งนี้ ศูนย์แพทยศาสตรศึกษา โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ เล็งเห็นถึงความสำคัญของผลงานวิจัยดังกล่าว จึงผลักดันให้ทีมวิจัย ส่งผลงานเข้าร่วมแข่งขันในเวทีระดับประเทศ ในงานประชุมวิชาการแพทยศาสตร์ศึกษา ครั้งที่ 19 ในรูปแบบ online ซึ่งทีมวิจัยคัดเลือกให้ นศ.พ.สุธารัตน์ สาธุการ เป็นผู้นำเสนอผลงานในที่ประชุมแบบปากเปล่า หรือ oral presentation ต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้จัดการประชุมได้สรุปผลการนำเสนองานวิจัยด้าน medical education and clinical research in COVID-19 pandemic
ผลการตัดสินผลงานวิจัยของ นศ.พ.สุธารัตน์ สาธุการ และคณะ ได้รับรางวัลชนะเลิศ โดยมีคะแนนเป็น อันดับที่ 1 ผลงานวิจัยเรื่อง "การเปรียบเทียบความสามารถในการประเมินภาวะทุพโภชนาการระหว่างการใช้ Nutrition alert form และ GILM criteria ในผู้ป่วยแผนกศัลยกรรมทั่วไป โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์"
นศ.พ.สุธารัตน์ สาธุการ หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของงานวิจัยดังกล่าว มาจากการมองเห็นถึงปัญหาของภาวะทุพโภชนาการภายในโรงพยาบาล ซึ่งควรที่จะได้รับการคัดกรองและรักษาไปพร้อมกับโรค/ภาวะที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ โดยเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินภาวะดังกล่าว ในปัจจุบันมีค่อนข้างมาก แต่ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย รวมถึงที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ คือ Nutrition alert form (NAF) ซึ่งใช้พารามิเตอร์ในการประเมินถึง 8 หัวข้อใหญ่ และหากไม่ทราบน้ำหนักผู้ป่วยอาจจะต้องทำการเจาะเลือดเพื่อให้ได้มา ซึ่งค่าพารามิเตอร์เสริมคือ ค่า total lymphocyte count
แต่ขณะเดียวกันเมื่อช่วงปี ค.ศ. 2019 องค์กร GILM ได้ประกาศใช้เครื่องมือในการประเมินภาวะทุพโภชนาการตัวใหม่ ที่ใช้พารามิเตอร์เพียงแค่ 2 หัวข้อใหญ่เท่านั้น แต่เนื่องจากเป็นวิธีที่ใหม่จึงยังไม่มีการใช้แพร่หลายในประเทศไทย
ทางทีมผู้วิจัยเล็งเห็นถึงข้อดีและความสำคัญของเครื่องมือดังกล่าว จึงมีความคิดที่จะนำเครื่องมือนี้มาใช้ในประเทศไทย และเปรียบเทียบกับเครื่องมือชนิดเดิมที่มีอยู่ โดยเริ่มประเมินใช้กับผู้ป่วยแผนกศัลยกรรมทั่วไป ที่มีความชุกของผู้ป่วยที่มีภาวะทุพโภชนาการสูงสุดในโรงพยาบาลเป็นที่แรก ผลปรากฏว่า มีความสอดคล้องกันในเกณฑ์ดีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จึงถือเป็นความสำเร็จในการนำเครื่องมือดังกล่าว มาใช้ในการประเมินภาวะทุพโภชนาการ และถือเป็นงานวิจัยชิ้นแรกในประเทศไทยเลยทีเดียว ที่มีการศึกษาถึงแบบประเมินชนิดนี้
จากเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมา จึงทำให้ทางคณะกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิ เล็งเห็นถึงความสำคัญของงานวิจัยดังกล่าว ทั้งนี้ คณะกรรมการได้กล่าวชื่นชม ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของนักศึกษาแพทย์ และนำการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่า อีกทั้งยังให้ข้อเสนอแนะในการต่อยอดงานวิจัยขั้นต่อไปอีกด้วย
นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จอีกก้าวของงานวิจัยที่มีความโดดเด่น ที่สามารถต่อยอดไปสู่ผลงานระดับประเทศ เป็นการสร้างประโยชน์ให้กับตัวผู้ป่วยโดยตรง แสดงถึงศักยภาพของศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ และวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท อย่างแท้จริง
เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ / ข่าว