นิติฯ ม.อุบลฯ รับถ้วยประทาน “พระองค์ภาฯ” ชนะเลิศตอบปัญหากฎหมาย วันรพี ปี’61
นายเชี่ยวชาญ พรมสุภะ และนายประวัติศาสตร์ ใหญ่สมพงษ์ นักศึกษา ชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สร้างชื่อเสียงในเวทีระดับชาติ ชนะเลิศ!! การแข่งขันตอบปัญหากฎหมาย ระดับอุดมศึกษา เนื่องในวันรพีวิชาการ ประจำปี 2561 ได้รับถ้วยประทาน พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา พร้อมเงินรางวัลจัด โดย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา
นับเป็นความสำเร็จสูงสุด และเป็นความภาคภูมิใจยิ่ง ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (มอบ.) ภายหลังจากนักศึกษา ได้เข้าร่วมการแข่งขันตอบปัญหากฎหมาย ระดับอุดมศึกษา ประจำปี 2561 เนื่องในวันรพีวิชาการ โดยมี มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนคณะนิติศาสตร์ 36 ทีมทั่วประเทศ เข้าแข่งขัน ผลการแข่งขัน ปรากฏว่า รางวัลชนะเลิศ ได้รับถ้วยประทาน พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้แก่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (62.5 คะแนน) รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (61 คะแนน) และ รองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย (59.5 คะแนน)
นายเชี่ยวชาญ พรมสุภะ นักศึกษา ปี 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ตนและเพื่อน (นายประวัติศาสตร์ ใหญ่สมพงษ์) รู้สึกดีใจที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับคณะ และมหาวิทยาลัย หลังจากที่ฟังประผลการแข่งขัน และได้ยินชื่อมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้รับ รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ตอนนั้น รู้สึกดีใจมาก ดีใจจนน้ำตาไหลซึมออกมา การได้รับถ้วยประทานจากองค์ภาฯ คือความใฝ่ฝันตั้งแต่เข้ามาศึกษาที่คณะนิติศาสตร์ ว่าอยากจะได้ถ้วยรางวัล มามอบให้แก่คณะนิติศาสตร์ สักครั้งหนึ่งในชีวิต และยิ่งไปกว่านั้น คือรู้สึกภูมิใจที่นำชื่อมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ขึ้นไปอยู่ในอันดับต้นๆ มีความสามารถไม่น้อยไปกว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำระดับประเทศได้
ในส่วนของการสอบ ซึ่งข้อสอบมีความยากพอสมควร เนื่องจากข้อสอบที่ใช้ในการแข่งขันนั้น ผู้พิพากษา ของศาลจังหวัด ในจังหวัดต่างๆ เป็นผู้ออกข้อสอบ ส่วนข้อสอบ ที่ใช้ในการแข่งขันนั้น แบ่งออกเป็น 6 หมวด หมวดที่ 1 คือ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 2 กฎหมายอาญา 3 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 4 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 5 กฎหมายมหาชน และ 6 กฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งในการแข่งขันจะใช้ข้อสอบทั้งหมด 30 ข้อ มีทั้ง ข้อสอบปรนัย และ อัตนัย โดยความยากของข้อข้อสอบอัตนัย นั้น อยู่ตรงที่ในโจทย์แต่ละข้อนั้น จะมีประเด็นไม่ต่ำกว่า 3 ประเด็น และโจทย์ยาวมาก ซึ่งเราจะต้องเขียนต่อ ให้ครบทุกประเด็น ภายใน ระยะเวลา 3 นาที ส่วนข้อสอบปรนัยนั้นมีเวลาให้ทำ 1 นาที
สำหรับการเตรียมตัวก่อนที่จะไปแข่งขัน ซึ่งมี อาจารย์มณฑิรา แก้วตา เป็นที่ปรึกษา เราใช้เวลาในการอ่านหนังสือหลายเดือน ตั้งแต่ช่วงปิดเทอม ตนได้อ่านหนังสือทบทวนตัวบทกฎหมาย และศึกษา ฎีกาที่ตัดสิน ออกมาใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา เทคนิคที่ใช้ และทำให้ประสบความสำเร็จในครั้งนี้ ก็คือการอ่านหนังสือ ซ้ำๆ หลายครั้ง และจำที่คีย์เวิร์ด ที่สำคัญ ในฎีกา เพื่อนำไปใช้ในการตอบข้อสอบ และที่สำคัญคือตัวบทกฎหมาย จำเป็นที่จะต้องท่อง และจำหลักกฎหมายที่สำคัญสำคัญในมาตรานั้นๆ เพื่อนำไปปรับเข้ากับข้อเท็จจริง ที่ปรากฏอยู่ในข้อสอบ และนอกจากอ่านหนังสือและท่องตัวบทแล้ว การฝึกเขียนตอบข้อสอบ เก่าก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ที่จะทำให้เราสามารถเขียนตอบข้อสอบได้ดีและจับประเด็นได้ครบ ซึ่งก็จะทำให้ได้คะแนนจากผู้ตรวจข้อสอบ ในระดับที่ดี ซึ่งเทคนิคทั้ง 3 อย่างที่ได้อธิบายไปนั้นเป็นสิ่งที่ตนนำมาใช้ในการเรียนกฎหมายและก็ทำให้ตนตอบข้อสอบได้คะแนนดีเกือบทุกวิชา ส่วนหนึ่ง อาจจะเป็นเพราะตนได้มีการค้นพบวิธีการเรียน และวิธีการเขียนข้อสอบ ในแบบของตัวเองได้เร็ว ความสำเร็จในครั้งนี้ต้องขอบคุณอาจารย์ทุกท่านที่ถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการด้านกฎหมาย ขอบคุณรุ่นพี่ศิษย์เก่า ตลอดจนเพื่อนๆ และรุ่นน้องที่เป็นกำลังใจมาโดยตลอดการแข่งขัน ครั้งนี้ นายเชี่ยวชาญ พรมสุภะ กล่าว
ด้าน อาจารย์มณฑิรา แก้วตา ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและวิจัย คณะนิติศาสตร์ ม.อุบลฯ อาจารย์ผู้ควบคุมดูแล กล่าวว่า ในช่วงนาทีที่ประกาศชื่อ มหาวิทยาลัยที่ชนะเลิศ รู้สึกดีใจมาก ตื้นตันใจจนน้ำตาไหล รู้สึกว่าความตั้งใจ ความทุ่มเทของนักศึกษาไม่เสียเปล่า ทั้ง 2 คน เสียสละมาก ยอมเสียสละเวลาส่วนตัว เพื่อมาอ่านหนังสือทุกเรื่องที่เรียนตั้งแต่ปี 1 ถึง ปี 4 เขาบอกว่าเคยพลาดมาแล้วสนามหนึ่ง จึงขอแก้ตัวสนามนี้ และเขาก็ทำได้สำเร็จ ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ขยัน อดทน มีวินัยในตนเอง ภูมิใจในศิษย์ทุกคนเสมอ "นิติศาสตร์ ม.อุบลฯเกรียงไกร ภูมิใจร่วมใจตั้งมั่น เราพร้อมเชิดชูสถาบัน มุ่งสร้างสรรค์นำวิชายุติธรรม"
เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว