อาชีวะอุบลฯ ส่งมอบผีเสื้อประดิษฐ์ นำไปจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ
วันที่ 25 พฤษภาคม 2565 นางลฎาภา แสวงทรัพย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี มอบหมายให้ นายลือชัย ทาทอง รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากิจการนักเรียน นักศึกษา พร้อมด้วยนางอรสา แถบเกิด ครูแผนกวิชาแฟชั่นและสิ่งทอ หัวหน้างานโครงการพิเศษและบริการวิชาชีพสู่ชุมชน ตัวแทนครู นักเรียน นักศึกษา นำผีเสื้อต้นแบบที่ประดิษฐ์สวยงามทำจากผ้าไหม ผ้าฝ้าย และผ้ากาบบัวลายอัตลักษณ์ประจำพื้นถิ่นของจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 3 ขนาด ได้แก่ ขนาดไซส์ S ความกว้าง 50-30 เซนติเมตร จำนวน 12 ตัว ขนาดไซส์ M ความกว้าง 50 เซนติเมตร จำนวน 5 ตัว และขนาดไซส์ L ความกว้าง 1 เซนติเมตร จำนวน 1 ตัว รวม 18 ตัว ผลงานครู นักเรียน นักศึกษา แผนกวิชาแฟชั่นและสิ่งทอ แผนกวิชาคหกรรม วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี จัดส่งให้กับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในการรับมอบผีเสื้อจากหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นต้นแบบการประดิษฐ์ผีเสื้อเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 7 อุบลราชธานี, บริษัทประชารัฐรักสามัคคีอุบลราชธานี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด, สมาคมช่างตัดเสื้ออุบลราชธานี, ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี, หอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี, สมาคมแม่ดีเด่นแห่งชาติประจำจังหวัดอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, กศน.อุบลราชธานี,เครือข่ายโอทอปจังหวัดอุบลราชธานี และเยาวชนโอทอป และคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัด
ทั้งนี้ ผีเสื้อทั้งหมดที่ส่งมอบ จะมีคณะกรรมการร่วมพิจารณาคัดเลือก ผีเสื้อประดิษฐ์ที่สวยงามและมีความเหมาะสม ให้เหลือ 90 ตัว เพื่อนำไปประดับในนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ต่อไป
โดยจังหวัดอุบลราชธานี มีกำหนดส่งมอบให้กับกระทรวงมหาดไทย ภายในสัปดาห์นี้ จากนั้นจะขยายผลไปยังกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปในจังหวัดอุบลราชธานี ให้รวมพลังประดิษฐ์ผีเสื้อให้ได้จำนวน 90,290 ตัว นำมาจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ 12 สิงหาคม 2565 ของจังหวัดอุบลราชธานี ตลอดเดือนสิงหาคม พร้อมจัดทำดอกไม้ป่ามงคล 5 ชนิด ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานนามไว้ ได้แก่ ดุสิตา สร้อยสุสวรรณา ทิพเกสร มณีเทวา และสรัสจันทร นำมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ด้วย