นศ. ม.ราชภัฏอุบลฯ ฝึกงานที่สกลนคร ลุงตู่ชมขยัน มีความรู้และมีจิตวิญญาณที่ดี
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ ได้เดินทางไปตรวจราชการ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร เพื่อติดตามผลการดำเนินการแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน ตามแนวพระราชดำริ และดูงาน “4 ดำ มหัศจรรย์ ของศูนย์ ฯ ภูพาน” ในการนี้ มีนักศึกษา ม.ราชภัฏอุบล ฯ 5 คน ที่ฝึกงานอยู่ที่นั่น เตรียมงานและนิทรรศการเพื่อนำเสนอ ได้รับคำชื่นชม
นายโรจน์วัฒน์ อินทร์ทุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เปิดเผยว่า ศูนย์ ฯ ภูพาน บนเนื้อที่ 11,000 ไร่ จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2525 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงคัดเลือกพื้นที่จัดตั้งศูนย์ฯ ด้วยพระองค์เอง เพื่อเป็นพื้นที่ตัวแทนของภาคอีสานทั้งหมด ด้วยพื้นที่นี้มีลักษณะสภาพธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวงจรทางชีวภาพที่คล้ายคลึงกับภูมิภาคโดยทั่วไปของภาคอีสาน เพื่อเป็นแบบจำลองของภาคอีสาน และเป็นพื้นที่ส่วนย่อที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับการแก้ไขปัญหา ด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อพัฒนาให้ภูมิภาคนี้เกิดความอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ศูนย์ ฯ ภูพาน รับผิดชอบงานหลัก คือ
1. งานการศึกษา ทดลอง และค้นคว้า ซึ่งแบ่งเป็นงานศึกษาและพัฒนาด้านเกษตรกรรม ด้านปรับปรุงบำรุงดิน ด้านป่าไม้ ด้านปศุสัตว์ และงานสาธิตและพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการประมง
2. งานขยายผลของศูนย์ ฯ โดยเมื่อได้ผลการศึกษาที่ดี สามารถให้ผลผลิตสมบูรณ์เหมาะสมกับสภาพดินและภูมิอากาศของท้องถิ่นแล้ว ศูนย์ ฯ จะนำไปขยายผลเผยแพร่สู่ราษฎรในพื้นที่
ซึ่งในแต่ละปีการศึกษา จะมีนักศึกษาที่เรียนด้านสัตวแพทย์ และสัตวศาสตร์มาศึกษา/ฝึกงานและช่วยงานอยู่ตลอดทั้งปี ขณะนี้มีนักศึกษาสาขาวิชาสัตวศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี จำนวน 5 คน มาฝึกงานอยู่ที่นี่ เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ประกอบด้วย
1. นางสาวจีรนันท์ ทาระชาย หรือ “บีม” ฝึกในแผนกกวาง
2. นางสาวแจ่มจรัส ติละบาล หรือ “ไก่” ฝึกในแผนกกระต่าย
3. Miss. Chanthat Sol หรือ “ยานุด” นักศึกษาชาวกัมพูชา ฝึกในแผนกโคเนื้อ
4. Miss. Sophorn Heng หรือ “พลอย” นักศึกษาชาวกัมพูชาอีกคน ฝึกในแผนกไก่
5. นางสาวมณีพฤกษา วิบูลย์เขียว หรือ “หงส์” ฝึกในแผนกแพะ
น้อง ๆ เล่าว่า ศูนย์ ฯ มีไฮไลต์ที่สำคัญที่มีชื่อเสียงและที่นายกรัฐมนตรีเน้นมาดูงาน คือ “4 ดำ มหัศจรรย์” ซึ่งเป็นสัตว์สายพันธุ์ที่โดดเด่น เลี้ยงง่าย มีอาหารหาได้ในท้องถิ่น ใช้เทคโนโลยีการเลี้ยงที่ง่าย ทนต่อสภาพแวดล้อม นำมาเป็นอาหารในครัวเรือนได้ และได้กำไรเวลานำไปขาย ประกอบด้วย ไก่ดำ สุกรดำ โคเนื้อภูพาน และกระต่ายดำ
1. ไก่ดำภูพาน ปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมาโดยอุดมไปด้วยสารเมลาโทนินที่ให้สีดำ จากการวิจัยสารนี้มีฮอร์โมนเพศสูง ช่วยแก้ปัญหาการมีบุตรยาก ช่วยการตกไข่ของเพศหญิง
2. สุกรดำภูพาน พัฒนาสายพันธุ์จากหมูเหมยซานของจีนที่มีไขมันสูง มาผสมกับสายพันธุ์พื้นเมืองในไทย ชื่อสุกรภูพาน หรือภูพานคุโรบูตะ
3. โคเนื้อภูพาน พัฒนาพันธุ์จากโคทาจิมะของญี่ปุ่น โคสายพันธุ์วากิวหนึ่งที่มีเนื้อนุ่ม มีไขมันแทรกในเนื้อ มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงกว่าโคทั่วไป
4. กระต่ายดำ เป็นกระต่ายเนื้อ เดิมชาวบ้านจะล่ากระต่ายป่าในพื้นที่เทือกเขาภูพานอยู่แล้ว ต่อมา มีกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า ศูนย์ ฯ เลยนำพันธุ์มาพัฒนา พบว่าเนื้อมีไขมันน้อย เหมาะสำหรับคนที่ใส่ใจสุขภาพ ต้นทุนการเลี้ยงต่ำ เพราะกระต่ายนี้กินแค่หญ้ากับน้ำเท่านั้น สามารถส่งเสริมเป็นอาชีพให้เกษตรกรที่มีทุนน้อยเลี้ยงได้ทั้งในและต่างพื้นที่ เกษตรกรสามารถอบรมเพียง 1 วันในศูนย์ ฯ แล้วรับพ่อแม่พันธุ์ไปเลี้ยงต่อ จำหน่ายเป็นรายได้เลยทันที และในขณะนี้ศูนย์ ฯ กำลังพัฒนาพันธุ์แพะดำขึ้นมาเพิ่มอีก 1 ชนิด
ในแต่ละวัน นักศึกษาแต่ละคนจะเข้าแผนกที่ตนเองดูแลตั้งแต่เช้า เริ่มสุขาภิบาลคอก จัดเตรียมความพร้อมของสาธารณูปโภคและอุปกรณ์ประกอบคอกของสัตว์แต่ละชนิด เตรียมอาหาร ให้อาหาร ฆ่าเชื้อ ทำทะเบียนสัตว์ ฉีดวัคซีน และผสมพันธุ์ เป็นต้น
นายโรจน์วัฒน์ อินทร์ทุ่ง ผอ. ศูนย์ ฯ เล่าว่า น้อง ๆ ของ ม.ราชภัฏอุบล ฯ ชุดนี้ได้มาฝึกตลอดช่วงฝึกงานภาคฤดูร้อน โดยช่วยงานประจำและเตรียมการในการนำเสนองานต่อนายกรัฐมนตรีและคณะ ที่มาตรวจเยี่ยม โดยทั้ง 5 คน ได้พบกับนายกรัฐมนตรี ซึ่งสอบถามถึงความรับผิดชอบและชื่นชมนักศึกษาทั้ง 5 คน
“ชื่นชม ม.ราชภัฏอุบล ฯ ที่ส่งนักศึกษาขยัน ๆ มาฝึกงาน มีความรู้ทางวิชาการที่ดี และมีจิตวิญญาณที่ดีมาก ๆ ทางศูนย์ ฯ ยินดีรับน้อง ๆ ของ ม.ราชภัฏอุบล ฯ ฝึกงานทุกปี” ผอ.ศูนย์ ฯ กล่าวเสริม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์กฤษฎา บูรณารมย์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิจัย และบริการวิชาการ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เล่าว่า นักศึกษาของคณะเกษตรศาสตร์ ส่วนใหญ่จะออกฝึกงานในภาคฤดูร้อนของชั้นปีที่ 3 ซึ่งปีนี้สาขาวิชาสัตวศาสตร์มีนักศึกษากระจายออกฝึกงานในสถานประกอบการต่าง ๆ อาทิ สวนสัตว์อุบล ฯ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ศูนย์ ฯ ภูพาน หรือภาคเอกชน เช่น สหกรณ์โคนมวาริชภูมิ ศรีภักดีฟาร์ม ขุนเดชฟาร์ม เอสเค ฟาร์ม และจันทร์เหลือง ฟาร์ม เป็นต้น โดยมีเป้าหมายในการฝึกเพื่อให้นักศึกษาได้เชื่อมโยงความรู้ทางทฤษฎีในห้องเรียนกับการปฏิบัติจริงในสถานประกอบการ โดยก่อนการออกฝึกงานจริง คณะ ฯ มีการเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาได้ลงฝึกปฏิบัติในฟาร์มเกษตร 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ ศูนย์การเรียนรู้บ้านยางน้อย ซึ่งเป็นฟาร์มของคณะ ฯ ก่อนแล้ว
ทั้งนี้ บัณฑิตสัตวศาสตร์ และบัณฑิตของคณะเกษตรศาสตร์ ม.ราชภัฏอุบล ฯ มีจุดแข็งที่สะท้อนจากผู้ประกอบการ คือ มีทัศนคติที่ดี ทำงานเก่ง สู้งานหนัก ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก ปรับตัวทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี เป็นที่พึ่งให้กับท้องถิ่นได้
“บีม” จีรนันท์ ทาระชาย หนึ่งในนักศึกษาฝึกงานเล่าว่า “ดีใจที่ได้มาฝึกงานที่นี่ซึ่งมีสัตว์หลากหลายได้ความรู้และประสบการณ์ที่ดี สนใจเรื่องการเลี้ยงกระต่ายเนื้อมาก สามารถเอากลับไปทำเป็นธุรกิจของตัวเองได้เลยค่ะ พี่ ๆ บอกว่าตอนจะกลับอุบล ฯ พี่จะให้ไก่คนละ 5 – 10 ตัว ไปเลี้ยงขยายพันธุ์เองต่อ”
ส่วนข้อดีของการเรียนแล้วได้ฝึกงานจริง บีมพูดต่อว่า “ทำงานจริงสนุกค่ะ ช่วงงานเยอะ ๆ ก็จะเหนื่อยหน่อย แต่สนุก มีเป้าหมายในทุก ๆ วัน ไม่เหยาะแหยะ ฝึกความรับผิดชอบ มีวินัย มาอยู่ที่นี่มีโอกาสเตรียมงานและรับเสด็จสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า ฯ มาแล้วครั้งหนึ่ง แล้วครั้งนี้ได้โชว์นายกรัฐมนตรีอีก ได้รับคำชมและกำลังใจ รู้สึกดีใจค่ะ”
ปัจจุบันกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีนโยบายสำคัญที่ให้การเรียนในระดับอุดมศึกษามีการบูรณาการกับการทำงานจริง เพื่อเตรียมบัณฑิตให้มีความพร้อมสู่โลกการทำงานทันที โดยตั้งเป้าหมายให้ทุกหลักสูตรจัดการเรียนการสอนแบบนี้ 100% ของหลักสูตรอุดมศึกษาที่สอนในประเทศ เพราะเชื่อว่าเป็นหนทางสำคัญในการเตรียมกำลังคนให้พร้อมสำหรับการพัฒนาประเทศต่อไป
ข่าว : เชษฐ์ ศรีไมตรี
งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี