ม.อุบลฯ ร่วมกับภาคีเครือข่าย เตรียมถอดบทเรียนน้ำท่วมปี 62
วันที่ 4 ตุลาคม 2562 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดแถลงข่าวร่วมกับภาคีเครือข่าย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตนครราชสีมา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี สถาบันสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) และจัดการเสวนา หัวข้อ “แนวทางการพัฒนาโจทย์วิจัยเพื่อการบริหารจัดการน้ำ กรณีศึกษาการเกิดน้ำท่วมในลุ่มน้ำมูลและชี” ระหว่างวันที่ 3 – 4 ตุลาคม 2562 ณ ห้องประชุม SEC 205 ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นประธานเปิดการเสวนาและร่วมแถลงข่าว ซึ่งได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.สุวัฒนา จิตตลดากร อนุกรรมการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤษณ์ ศรีวรมาศ รองอธิการบดีบริหารกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมพูดคุยในวงเสวนาเกี่ยวกับประเด็นความสำคัญและบทบาทของนักวิชาการด้านทรัพยากรน้ำกับปัญหาการบริหารจัดการน้ำ พร้อมกับลงพื้นที่ศึกษาสถานการณ์น้ำท่วม ในบริเวณเขตพื้นที่อำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอวารินชำราบ อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอโขงเจียม และเขื่อนปากมูล จังหวัดอุบลราชธานี
สืบเนื่องจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นสถาบันการศึกษาที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วมในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา เพื่อเป็นการบูรณาการองค์ความรู้ทางวิชาการ และหาแนวทางในการสร้างโจทย์วิจัยและเครือข่ายเพื่อการประยุกต์ใช้งานวิชาการ งานวิจัย ให้เกิดผลประโยชน์ต่อการบริหารจัดการน้ำในภาคปฏิบัติ ดังนั้น มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจึงได้มีการกำหนดการประชุมเพื่อเสวนาและปรึกษาหารือเกี่ยวกับการพัฒนาโจทย์วิจัยเพื่อการบริหารจัดการน้ำ กรณีศึกษา “การเกิดน้ำท่วมในลุ่มน้ำมูลและชี” ขึ้น เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของบทบาทนักวิชาการ นักวิจัย และคณาจารย์ด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ ได้มีเวทีในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ร่วมกัน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฤกษ์ชัย ศรีวรมาศ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ และประธานสภาอาจารย์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า สำหรับการเสวนาครั้งนี้ สรุปได้ 2 ประเด็น คือ ประเด็นแรกเราจะมีเครือข่ายวิชาการเพื่อจัดการน้ำทางอีสานเรา กับทุกมหาวิทยาลัยของอีสาน และประเด็นที่สองเราจะเขียนของบศึกษาเรื่องการถอดบทเรียนน้ำท่วมปี 62 ของลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชีของ วช. เดิมเน้นงานวิจัย
อาทิตย์นี้ วันศุกร์ทางกรุงเทพฯ ทาง วช. และทางคณะกรรมการก็จะลงมาช่วยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีดูเรื่องข้อเสนอโครงการ ซึ่งเราเห็นปัญหาน้ำท่วมอีสานมาทุกปี โดยเฉพาะปีนี้มันแรงมากที่จังหวัดอุบลฯ เราเลยพยายามเรียกพรรคพวกเราทีเรามีเครือข่ายอยู่แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มอาจารย์ให้ลงมาพูดคุยกันที่จังหวัดอุบลฯ เราก็ได้เสนอ รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ไปว่าอยากให้เครือข่ายมาพูดคุยและเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กันที่จังหวัดอุบลฯ ซึ่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีขอเป็นเจ้าภาพก่อนในครั้งแรกพอดีลงมาคุยแล้ว ศาสตราจารย์ ดร.สุวัฒนา จิตตลดากร อนุกรรมการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ท่านก็เป็นอนุกรรมการใน วช. เดิมอยู่ด้วย ท่านก็เลยพอมีงบประมาณเดิมคงเหลืออยู่ใน วช. ที่จะให้ทีมงานสามารถทำงานได้พอดี ก็ถือว่าเป็นความโชคดีอย่างยิ่ง
สำหรับการประชุมครั้งต่อไป จะเป็นการประชุมเกี่ยวกับการพัฒนาข้อเสนอโครงการที่จะใช้งบ วช. เพื่อมาศึกษาและพัฒนาการถอดบทเรียนทั้งภาคอีสานเลย ซึ่งทางอาจารย์ทุกคณะในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีของเรา ก็มีการประชุมและพูดคุยกันมาแล้วในตอนที่เกิดน้ำท่วม เรื่องแผนการจัดการน้ำท่วม ตอนนั้นบทสรุปของการพูดคุยกันคือได้แผนน้ำท่วมอัจฉริยะที่เราอยากจะทำ แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้น ตอนนี้คงได้งบถอดบทเรียนมาทำก่อน แล้วค่อยสานต่อในเรื่องนั้นต่อไป
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว