ฉายหนังกลางแปลง สานฝันวัยเยาว์ของผู้ใหญ่บ้าน ต่อง
วงการหนังกลางแปลงกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ให้คนวัย 40 ปี ขึ้นไป ได้รำลึกถึงความหลังเมื่อครั้งต้องเดินทางไปปูเสื่อนั่งชมภาพยนตร์กลางแจ้ง ตามงานวัด งานเทศกาลต่างๆ กระทั่งความเจริญของบ้านเมืองได้เข้ามาปกคลุม ทำให้สามารถดูภาพยนตร์ต่างๆ ได้ในบ้าน ในห้องส่วนตัว ไม่ว่าจะมาจากเทปวีดีโอ แผ่นซีดี แผ่นดีวีดี เครื่องเก็บข้อมูล กระทั่งรับชมผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ฯลฯ ทำให้หนังกลางแปลงค่อยๆ เสื่อมความนิยมไป
นายศุภชัย นามแก้ว (ต่อง) ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 2 ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยกับไกด์อุบลว่าสมัยก่อนมีเพียงทีวีขาว-ดำ ไม่มีเฟสบุ้ค และไม่มีไลน์ ช่วงวัยเด็ก คุณพ่อคุณแม่ได้นำตนไปขายลูกชิ้นตามงานวัดต่างๆ ซึ่งในงานวัดนั้น ได้มีมหรสพ หนังกลางแปลงและหมอลำ ทำให้นาย ศุภชัย นามแก้ว มีสนใจในเรื่องของหนังกลางแปลงเป็นอย่างมาก สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ นายศุภชัย จะชอบเก็บฟิล์มที่ขาด ตามงานที่หน่วยหนังไปฉาย กลับมาบ้าน แล้วใช้ปี๊ปขนมปังมาทำหัวฉายใช้ไฟฉาย ฉายไปที่แผ่นฟิล์มผ่านเลนส์ ขยายไปยังผนังบ้านทำให้เกิดภาพ เป็นการสร้างจอหนังจำลองขนาดเล็ก ซึ่งเห็นแล้วรู้สึกมีความสุข
ผู้ใหญ่บ้านต่อง กล่าวต่อว่า เมื่อตนสนใจในเรื่องภาพยนตร์แล้ว โตขึ้นจึงตัดสินใจเรียนวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์ เพราะเกี่ยวกับงานช่างซ่อม ลำโพง ภาพยนตร์ โดยตนชอบซ่อมลำโพง ขยายเสียงเสียงในสมัยนั้นเครื่องเสียงตุลา วงดนตรีเพชรพิณทอง มีชื่อเสียงมาก จากนั้นก็เริ่มสะสมเครื่องฉายภาพยนตร์ ระบบอนาล็อก ขนาด 35 ม.ม. อาศัยใจรัก โดยได้ขับรถจากอำเภอวารินชำราบ ไปซื้อหัวฉายหนังแบบ อนาล๊อกที่จังหวัดอุดรธานี หลายครั้ง ในช่วงแรกหัดฉาย รู้สึกแสงไม่สวย จึงได้ไปซื้อ หัวเตาฉายเพิ่มขึ้น
ด้วยความอยากเป็นเจ้าของหน่วยภาพยนตร์เล็กๆ ไว้ให้เด็กๆ ได้ศึกษา เรียนรู้ระบบฉายหนังโบราณ ยุค 80 หลังจากที่หัดฉายได้สักพัก จึงตัดสินใจสั่งตัดจอภาพยนตร์ ขนาดแปดเมตร ที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่ง ตนได้ขับรถไป-กลับ อุบล-ขอนแก่น หลายรอบ เพื่อไปซื้ออุปกรณ์ต่างๆ รวมไปถึงการซื้อฟิล์มหนังมาไว้ฉายด้วย
หนังส่วนมากจะเป็นหนังโบราณ หนังตลกผ่อนคลาย ไม่นำหนังใหม่มาฉายเพราะไม่อยากผิดลิขสิทธิ์ และยังไม่คิดว่าจะฉายในเชิงธุรกิจ ปรากฎว่า ได้รับความสนใจเยอะมาก ทำให้ตนรู้สึกมีความสุขที่ได้เห็นรอยยิ้ม โดยชาวบ้านบอกกับตนว่า อยากให้มาฉายอีก ซึ่งตอนนั้นมีหนังเก่าสะสมไว้กว่า 10 เรื่อง นำมาฝึกฉายเล่น พัฒนาจากระบบฉายแบบถ่าน มาเป็นฉายด้วยระบบหลอดไฟ ซีนอน 3 กิโล
ต่อมานายศุภชัย ได้มีโอกาสรับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลธาตุ ซึ่งรับผิดชอบบริการสังคมหลายหมู่บ้าน เงินเดือนค่าตอบแทนน้อยนิด ไม่พอที่จะช่วยเหลือซอง งานต่างๆ จึงได้เกิดความคิดนำหนังเก่าออกมาฉายช่วยงานวัด เชิญคนเข้ามาทำบุญ แทนซองที่ตนจะใส่ไป ซึ่งหากคิดมูลค่าจ้างหนังแล้วคืนละไม่ต่ำกว่า 5 ถึง 6 พันบาท ซึ่งตนได้ฉายหนังงานการกุศลมาเรื่อยๆ การฉายแต่ละครั้ง ต้องจ้างทีมงานจำนวน 3 คน ติดตั้งจอ ติดตั้งลำโพง
หลังจากนั้น งานเริ่มใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับมีโอกาสฉายหนัง เสน่ห์ฮักวาริน (ภาพยนตร์ดิจิตอล) ที่ นายฤทธิ์สรรค์ เทพพิทักษ์ นายอำเภอวารินชำราบ (ในสมัยนั้น) กำกับการแสดง ในช่วงนั้น ได้มีโอกาสได้นำภาพยนตร์ไปฉายในเขตพื้นที่อำเภอวารินชำราบ หลายตำบล ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ อยากอนุรักษ์หนังกลางแปลง
ภายหลัง มีหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี มาติดต่อ ขอความร่วมมือให้นำภาพยนตร์ไปฉายในงานกิจกรรมย้อนยุค ซึ่งก็สร้างสีสันภายในงานได้ไม่แพ้กิจกรรมอื่นเลย ต่อมาได้รับเกียรติจากคุณ บิณฑ์ บันลือฤทธิ์ ให้นำหนังฮักบี้บ้านบากไปฉาย เป็นกรณีพิเศษ ที่อำเภอเขื่องใน
นาย ศุภชัย นามแก้ว ได้ กล่าวทิ้งท้ายกับทีมข่าวไกด์อุบลว่า ถึงแม้ภาพยนตร์ในปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงเป็นระบบดิจิตอลกันไปเกือบหมดแล้ว แต่ความคลาสสิกของการดูภาพยนตร์ ก็ยังคงหนีไม่พ้นระบบ อนาล๊อก ซึ่งนับวันจะหายสาบสูญกันไป นายศุภชัย นามแก้ว จึงมีความตั้งใจที่จะอนุรักษ์ภาพยนตร์ อนาล๊อกไว้ และตนได้ทำห้องสะสมอุปกรณ์ฉาย ทำศูนย์การเรียนรู้ภาพยนตร์ไว้ที่บ้าน เพื่อให้นักศึกษาได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ต้นกำเนิดของภาพยนตร์กลางแปลง
หากท่านไดสนใจ ติดต่อ ว่าจ้าง ตนก็พร้อมที่จะรับงานในราคาที่ตกลงกัน และหากได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะรีบดำเนินการซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ และจดทะเบียนเป็นธุรกิจหนังกลางแปลงกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานี โดยใช้ชื่อหน่วยหนัง ว่า
ผู้ใหญ่บ้านต่อง
อำเภอวารินชำราบ
ติดต่อ 099-419 6547