กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร
วันที่ 22 กรกฎาคม 2565 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังศาลาที่ประทับ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร ณ เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีนายพลศรี สุวิศิษฏ์อาษา รองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) , นายประเสริฐ อินทับ ผู้ช่วยผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียน , นายฉัตรชัย มาวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำและพลังงานหมุนเวียน ร่วมกราบบังคมทูลรายงานสถานการณ์น้ำเขื่อนสิรินธร และข้อมูลโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร พร้อมด้วย นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี , หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดอุบลราชธานี , นายทหาร-ตำรวจ และ ผู้บริหาร-เจ้าหน้าที่ กฟผ. เฝ้า ฯ รับเสด็จฯ
หลังจากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังอาคาร “สิรินธารประภากร” เพื่อทอดพระเนตรโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลก และทิวทัศน์อ่างเก็บน้ำบนเส้นทางเดินชมธรรมชาติ (Nature Walkway)
สำหรับ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี (Hydro-floating Solar Hybrid) หรือ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร ขนาดกำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ นับเป็นโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
โดยเป็นหนึ่งในโครงการของแผนงานโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด (Hydro-floating Solar Hybrid) จำนวน 16 โครงการทั่วประเทศ ขนาดกำลังผลิตรวม 2,725 เมกะวัตต์ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1
มีจุดเด่น คือ สามารถผลิตไฟฟ้าจากทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ในช่วงกลางวัน และพลังน้ำจากเขื่อนที่มีอยู่เดิม มาผลิตไฟฟ้าในช่วงที่ไม่มีแสงแดดหรือเสริมความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในช่วงค่ำ พร้อมทั้ง กฟผ. ได้นำระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System : EMS) ร่วมกับระบบพยากรณ์อากาศ (Weather Forecast System) มาควบคุมและบริหารจัดการ เพื่อช่วยเพิ่มเสถียรภาพให้กับระบบผลิตไฟฟ้า ลดข้อจำกัดของพลังงานหมุนเวียน ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ยาวนานขึ้น
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าดังกล่าวได้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์แล้ว เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 ซึ่งนอกจากจะช่วยเสริมความมั่นคงทางพลังงานของประเทศแล้ว ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 47,000 ตัน/ปี หรือเทียบเท่าการปลูกป่า 37,600 ไร่ ตอบโจทย์พลังงานสะอาดที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน สอดรับกับนโยบายประเทศในการเดินหน้าสู่เป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดอุบลราชธานี และเป็นศูนย์กลางของแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานหมุนเวียนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกด้วย
สำหรับอาคารสิรินธารประภากร เป็นอาคารจัดแสดงสื่อประชาสัมพันธ์ด้านพลังงานและมีพื้นที่ใช้งานอเนกประสงค์สำหรับรองรับประชาชนที่เข้ามาเยี่ยมชมด้วย โดยออกแบบอาคารเป็นรูปทรงโค้งตามแนวแสงอาทิตย์ ซึ่งมีแนวคิดมาจากการโคจรรอบดวงอาทิตย์ของโลก ซึ่งสะท้อนถึงพลังงานแสงอาทิตย์ที่นำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า อีกทั้ง ใช้วัสดุที่สื่อถึงธรรมชาติได้อย่างกลมกลืนและเรียบง่าย ตัวอาคารยังเชื่อมต่อกับเส้นทางเดินชมธรรมชาติ (Nature Walkway) ซึ่งมีการออกแบบอย่างเชื่อมโยงด้วยการโอบล้อมลานกว้างทรงกลมรูปดอกบัวที่เป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดอุบลราชธานี และนำไปสู่การรับชมทิวทัศน์อันสวยงามของผืนน้ำเขื่อนสิรินธรและแผงโซลาร์เซลล์ของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ ฯ อีกด้วย