จากยอดดอยสู่ปลายคมขวาน บัณฑิตม้ง 6 ภาษา หนึ่งเดียว ม.อุบลฯ
บัณฑิตหนึ่งเดียวของชนเผ่าม้ง จบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ่อกับแม่เดินทางไกลลงจากปลายดอย สู่ดินแดนที่ราบสูง พร้อมสวมใส่ชุดชนเผ่าม้งถ่ายภาพร่วมยินดีกับลูกชาย ท่ามกลางสายฝนที่ตกโปรยปราย เป็นบรรยากาศแห่งความสุขใจที่หาชมได้ยาก
ภาพแห่งความประทับใจของครอบครัว กุลนิธิรัตน์ นับเป็นสีสันแห่งความสุขอย่างแท้จริงของครอบครัวเล็กๆชนเผ่าม้ง ที่เดินทางไกลจาก อ.อุ้มผาง จ.ตาก แม้ระยะทางจะไกลกว่า 700 กม. แต่ก็ไม่ใช่อุปสรรคในความสำเร็จครั้งนี้ บัณฑิตแสน กุลนิธิรัตน์ ปัจจุบันอายุ 23 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่ บ้านแม่กลองใหญ่ ตำบลโมโกร อำเภออุ้มผาง จัวหวัดตาก เป็นชนเผ่าม้ง ที่มาเรียนที่ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีความสามารถหลาหลาย สื่อสารได้มากกว่า 6 ภาษา อาทิ ไทย อังกฤษ จีน เกาหลี ภาษาพื้นเมืองเผ่าม้ง ภาษาอีสาน เป็นต้น
บัณฑิต แสน กุลนิธิรัตน์ บัณฑิตเผ่าม้ง กล่าวว่า ครอบครัวของตนเป็นครอบครัวเล็กๆ อาศัยอยู่บนดอย ที่ อ.อุ้มผาง จ.ตาก มีอาชีพเกษตรกร ปลูกข้าว ข้าวโพด เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ พืชผักสวนครัว ยึดหลักตามแนวทางพระราชดำริหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวง รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งเป็นการสำเร็จก้าวแรกของการศึกษา ภายหลังจากที่สำเร็จการศึกษาตนได้ทำงานในฝัน คือเป็นมัคคุเทศก์ที่บริษัทรีครีเอชั่นแลน บางกอก ไบค์กิ้ง เขตยานาวา กรุงเทพฯ เป็นทัวร์จักรยานที่นำเที่ยวชมวิถีชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ
เหตุผลที่เลือกเรียนการท่องเที่ยว บัณฑิตแสน กุลนิธิรัตน์ บอกว่า ในสมัยเด็กตนเคยฝันเป็นมัคคุเทศก์ เพราะที่บ้านมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจจำนวนมาก ซึ่งการท่องเที่ยวคือหัวใจหลักของประเทศไทยในอนาคต หลังจากจบมัธยมปลาย ตนจึงตัดสินใจเลือกเรียนการท่องเที่ยวที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แม้จะไกลจากบ้านแต่ก็ไม่ใช่ปัญหา ระยะเวลาการศึกษา 4 ปี ต้องทำให้ได้เพื่อครอบครัวและอนาคต ซึ่งตนคิดเสมอว่า“ความสำเร็จ หรืออะไรก็ตาม จะยากหรือง่าย ถ้าเราต้องการมันจริง ๆ หรืออยากได้มันจริง ๆ สักวันมันต้องเป็นของเราแน่นอน” การมีจินตนาการของตนเอง หรือการสร้างจินตนาการให้ตัวเองเสมอๆ จะช่วยส่งผลทำให้เราประสบความสำเร็จได้เร็วและได้ดีกว่าคนอื่น “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้”และ“ลงมือทำดีกว่าคิดที่จะทำ”
ประสบการณ์ชีวิตช่วงเป็นนักศึกษา ม.อุบลฯ บัณฑิตแสน กุลนิธิรัตน์ บอกว่า ได้เรียนและทำกิจกรรมนักศึกษาไปควบคู่ไปด้วย ทั้งในระดับคณะและระดับมหาวิทยาลัย อาทิ ชมรมวิชาการ ชมรมสานฝันสัมพันธ์สัญจรเป็นต้น นอกจากนี้ในปี 2556 ตนได้มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนที่ประเทศเกาหลีใต้ ระยะเวลา 3 เดือน ที่มหาวิทยาลัยฟาร์อีส เกาหลีใต้ ในโครงการการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษให้ดีขึ้น Global Leadership Development Program (GLDP) ซึ่งก็เป็นหนึ่งประสบการณ์ดีๆที่ได้เรียนรู้ และเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับชีวิต
บัณฑิตแสน กุลนิธิรัตน์ ยังบอกว่า การแต่งชุดม้งนั้นเป็นการแสดงถึงตัวตนที่แท้จริง ว่าตนเป็นชนเผ่าม้ง รู้สึกภูมิใจในตัวเอง ได้เปิดเผยออกไปว่าเรานั้นชนเผ่าม้ง มาจากดอยไกล มาศึกษาเล่าเรียนอย่างตั้งใจ แสดงว่าไม่ได้ด้อยกว่าใคร และไม่อายที่จะบอกว่าเป็นชาวม้ง ที่มีความสามารถไม่แพ้ใคร แม้จะมาไกล แต่มุ่งมั่น ขยัน อดทน ทนอด “ไม่มีคำว่าแพ้สำหรับคนที่จะสำเร็จ” บัณฑิตแสน กล่าว ก่อนที่จะนั่งลงต่อหน้าพ่อกับแม่ชาวม้ง และมอบใบปริญญาบัตรให้ท่าน พร้อมก้มลงกราบแทบเท้าของทั้ง 2 แทนคำขอบคุณพระในบ้านที่ทำให้ลูกมีวันนี้ อีกหนึ่งความภาคภูมิใจในบัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี “กันเกรา ช่อที่ 25” บัณฑิตรุ่นแรกใน รัชสมัยรัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี
เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ / ข่าว