ชาวบ้านสองคอน อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลฯ จัดงานประเพณีตักปลา อนุรักษ์วิถีชีวิตคนลุ่มน้ำโขง
นายประทีป กีรติเรขา ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานเปิดงานประเพณี ตักปลาในแม่น้ำโขง ประจำปี 2558 เพื่อเรียนรู้ภูมิปัญญาของท้องถิ่น อนุรักษ์วิถีชีวิตคนลุ่มน้ำโขง และเรียนรู้สายพันธ์ปลาในแม่น้ำโขง
วันที่ 5 มีนาคม 2558 ที่บ้านสองคอน ตำบลสองคอน อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี นายประทีป กีรติเรขา ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้เป็นประธานเปิดงานประเพณี ตักปลาในแม่น้ำโขง ประจำปี 2558 ชึ่งชาวบ้านในตำบลสองคอนได้ร่วมใจกันจัดงาน เพื่อส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน ประชาชน ได้เรียนรู้ภูมิปัญญาของท้องถิ่นอนุรักษ์วิถีชีวิตคนลุ่มน้ำโขง เรียนรู้สายพันธ์ปลาในแม่น้ำโขง โดยชาวบ้านในตำบลสองคอน จะทำหุ่นปลาขนาดใหญ่มาแขวนโชว์ให้ผู้ที่ไปร่วมงานได้ทราบว่าเป็นปลาที่มีอยู่ในแม่น้ำโขง
นอกจากนี้ ภายในงานได้มีการจัดแสดงการใช้เครื่องมือโบราณ ที่ชาวบ้านใช้เป็นเครื่องมือในการจับปลา ซึ่งชาวบ้านเรียกเครื่องมือจับปลาชนิดนี้ว่า "ซ้อนตักปลา" เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมายาวนาน ทำมาจาก ไม้ไผ่และตาข่าย ชาวบ้านจะใช้เครื่องมือชนิดนี้ไปตักปลาบริเวณ หน้าปากบ้อง ซึ่งเป็นจุดที่แคบที่สุดของแม่น้ำโขง ส่วนฤดูในการใช้ช้อนตักปลาในแม่น้ำโขง จะอยู่ในช่วงของเดือนกุมภาพันธ์ถึง มีนาคมซึ่งเป็นช่วงที่แม่น้ำโขงลดลงจนเห็นเกาะแก่งตามแม่น้ำ ปลาจะว่านทวนกระแสน้ำขึ้นไปโดยหลบเลียบตามแก่งหินที่อยู่ติดกับตลิ่ง ชาวบ้านจะใช้ช้อนตักตามน้ำไหลปลาที่ว่ายทวนน้ำขึ้นมาก็จะติดตาข่ายของชาวบ้านขึ้นมา
ขณะที่นายสมคิด บัวถา ชาวบ้านสองคอนบอกว่าที่ตักปลาได้ในช่วงนี้ได้เป็นประจำทุกปีเพราะมีความเชื่อว่าปลาที่อยู่ในแม่น้ำโขงจะขึ้นไปไหว้พระธาตุพนมหากถึงช่วงเดือน 3 ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคมชาวบ้านจะพากันมาตักปลาเป็นประจำทุกปี
ด้านนายประทีป กีรติเรขา ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่าจะส่งเสริมกิจกรรมของชาวบ้านเพื่อเป็นจุดขายในการท่องเที่ยวโดยเฉพาะการท่องเที่ยวในแม่น้ำโขงในช่วงหน้าแล้งซึ่งจังหวัดอุบลราชธานี มีนักท่องเที่ยวมาล่องเรือชมความงามของเกาะแก่งที่โผล่ขึ้นเหนือน้ำและวิถีชีวิตชาวบ้านที่อยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำโขงกันเป็นจำนวนมาก
ประเพณีการตักปลาในแม่น้ำโขง จะเป็นจุดขายที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวจังหวัดอุบลราชธานี ทั้งจังหวัดอุบลราชธานี ได้มีการผลักดันให้บริเวณ 3 อำเภอ ได้แก่ โพธิ์ไทร ศรีเมืองใหม่ และอำเภอโขงเจียม เป็นอุทยานธรณีผาชัน-พันโบก ซึ่งในอนาคตหากทำสำเร็จจะทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดอุบลราชธานีเพิ่มมากขึ้น
ภาพ/ข่าว โดย ดุสิต สิงห์คีรี
ปชส.อุบลราชธานี