สนามบินอุบลฯ ฝึกซ้อมแผนกรณีจับตัวประกันและไฟไหม้อากาศยาน
วันที่ 21 มิถุนายน 2566 เวลา 20.00 น. ท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชธานีฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุและแผนฉุกเฉินเต็มรูปแบบ กรณีจับตัวประกันและไฟไหม้อากาศยาน ประจำปี 2566 โดยมี นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานการฝึกซ้อมแผนฯ และร่วมฝึกเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ตามสถานการณ์ที่กำหนด
โดยมี นายสมเพชร สร้อยสระคู รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายกำพล สิริรัตตนนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี หัวหน้าส่วนราชการฝ่ายทหาร ตำรวจ และพลเรือน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โรงพยาบาล มูลนิธิและหน่วยกู้ภัยต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ท่าอากาศยาน สายการบิน จำนวนทั้งสิ้น 631 คน พร้อมยานพาหนะด้านกู้ภัยและการพยาบาลรวม 44 คัน เข้าร่วมการฝึกซ้อมแผนฯ ในครั้งนี้
มีการจำลองสถานการณ์ กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินที่มีคนร้ายแฝงตัวเข้าไปในกลุ่มผู้โดยสาร และจับผู้โดยสารเป็นตัวประกัน บังคับไปยังเครื่องบินที่จอดอยู่และก่อเหตุทำให้เครื่องบินเกิดเพลิงลุกไหม้ จากนั้นเจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานปฏิบัติตามแผนการแจ้งเหตุฉุกเฉิน โดยผู้อำนวยการท่าอากาศยานสั่งจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (EOC) และทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องได้เข้าร่วมปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุและแผนฉุกเฉินของท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชธานี
ซึ่งการฝึกซ้อมแผนฯ ในครั้งนี้ เป็นการฝึกซ้อมของแต่ละหน่วยงาน เช่น หน่วยด้านความมั่นคง มีการฝึกการเจรจาต่อรองทั้งส่วนของคนร้ายและตำรวจ ด้านการกู้ภัยและดับเพลิงมีการฝึกการระงับเหตุและช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ด้านการแพทย์ มีการฝึกคัดแยกผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บตามระดับความรุนแรงและนำส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่กำหนด และด้านการช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบต่าง ๆ เป็นการฝึกร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานและสายการบิน
หลังจากเหตุการณ์เข้าสู่สภาวะปกติในเวลา 22.00 น. ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (EOC) และผู้เกี่ยวข้องได้ร่วมฝึกซ้อมการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเพื่อสรุปสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและประกาศสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ
การซ้อมแผนฯ ในครั้งนี้ จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานภายในท่าอากาศยานานาชาติอุบลราชธานีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมบูรณาการแผนการฝึกซ้อม ขั้นตอนการปฏิบัติงาน การสื่อสาร การควบคุมสั่งการ การประสานงาน การเข้าระงับเหตุและช่วยเหลือผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงขั้นตอนการดูแลและอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร ที่ประสบเหตุ ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าใจและแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
อีกทั้ง เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้โดยสารและผู้มาใช้บริการท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชธานีในด้านความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย ซึ่งท่าอากาศยานจะทำการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินเต็มรูปแบบในทุก 2 ปี เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)
งานประชาสัมพันธ์ ท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชธานี