แบงค์ชาติอีสานจัดงานสัมมนา ขับเคลื่อนภาคเกษตรอีสาน ให้ “เปลี่ยนผ่าน” สู่ความยั่งยืน
ผ่านไปแล้วกับงานสัมมนาวิชาการของธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ แบงก์ชาติอีสานที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 66 ที่ผ่านมา โจทย์สำคัญ คือ จะทำอย่างไรให้ภาคเกษตรของเราเติบโตได้อย่างยั่งยืน ท่ามกลางความท้าทายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกร้อน กระแสกรีน รวมถึงความสามารถในการทำเกษตรของบ้านเราที่เริ่มถดถอยลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ มีสรุปเนื้อหาสำคัญเอาไว้ ดังนี้
ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา เมื่อเกิดภัยแล้งรุนแรงทีไร เศรษฐกิจอีสานได้รับผลกระทบมากทุกที นั่นเท่ากับว่า เกษตรกรรมเป็นกิจกรรมหลักของอีสาน และเป็นเกษตรที่พึ่งฟ้าพึ่งฝน โดยภาคอีสานยังต้องเจอกับภัยแล้งอีกในปี 66 และ 67 ยิ่งกว่านั้นแล้ว ถ้ามาดูเรื่องความสามารถการผลิตของเกษตรบ้านเราก็ลดลงไปมาก ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม กัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมาที่เคยตามหลังเรา แต่ตอนนี้พวกเขาแซงหน้าเราไปหมดแล้ว เพราะปัญหาโครงสร้างที่สำคัญของบ้านเรา คือ
1) เกษตรกรเรามีอายุมากขึ้น อายุเฉลี่ยประมาณ 53 ปี
2) แปลงเกษตรอีสานมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับภาคอื่น ทำให้การใช้เทคโนโลยีมีต้นทุนเฉลี่ยต่อแปลงสูง
3) การเข้าถึงน้ำของเกษตรอีสานน้อย ได้เพียง 5%
4) นโยบายภาครัฐมักเป็นนโยบายที่มองระยะสั้น เป็นนโยบายอุดหนุนแบบให้เปล่า และให้ทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงการขายผลผลิตไปจนถึงการเยียวยา เมื่อเกิดความเสียหาย นโยบายพวกนี้ถ้าให้บ่อยๆ อาจไม่จูงใจให้เกษตรกรปรับตัว เพราะหวังว่าหากเกิดอะไรขึ้น ภาครัฐก็จะเข้ามาช่วยเหมือนเดิม
จากที่ว่ามาทั้งหมด อาจพูดง่าย ๆ ว่าอาชีพเกษตรบ้านเราความเสี่ยงก็สูง แถมผลตอบแทนก็ต่ำ แต่เกษตรกรก็ยังทำเหมือนเดิม ผลลัพธ์ทั้งหมดที่ว่ามาสะท้อนได้จากปัญหา “หนี้สิน” ปัจจุบันที่เกษตรกรกู้ทุกปี แต่ส่วนใหญ่จ่ายคืนได้แต่ดอกเบี้ย และวันข้างหน้าคาดว่าจะมีเกษตรกรมากถึง 60% ที่ไม่สามารถใช้หนี้ได้หมดก่อนอายุ 70 ปี หรือที่เรียกกลุ่มนี้ว่า “หนี้เรื้อรัง”
ถ้าปัญหาพวกนี้ไม่ได้รับการแก้ไข เกษตรบ้านเราคงแข่งกับคนอื่นลำบาก ไม่เพียงเท่านี้ในอนาคตเรายังต้องเจอความท้าทายอื่น ๆ อีก โดยเฉพาะปัญหาโลกร้อน ที่ทำให้สภาพอากาศผันผวนรุนแรงขึ้น ซึ่งหมายความว่า จะเกิดภัยแล้งและน้ำท่วมที่บ่อยและหนักขึ้น รวมถึงผู้บริโภคจะหันมาสนใจกับสินค้าที่มีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ดังนั้น การทำเกษตรแบบเดิม ๆ จะไม่สามารถตอบโจทย์ได้อีกต่อไป ซึ่งในเวทีเสวนาวันนั้นได้พูดคุยประเด็นเหล่านี้กันอย่างเข้มข้น โดยทีมงานสรุปใจความสำคัญได้ 4 ข้อ คือ
(1) ทำไมภาคเกษตรอีสานถึงต้องปรับเปลี่ยน สถานการณ์ภัยแล้งในปัจจุบันที่มันแล้งมากขึ้น จนเรียกกันว่า “โลกเดือด” ส่งผลให้ดินอุ้มน้ำได้ไม่ดี ทำให้ผลผลิตลดลง และจะยิ่งได้รับความเสียหายจากภัยแล้งหรือน้ำท่วม หรือปีที่มีปริมาณน้ำฝนจำนวนมาก หากไม่มีการจัดการน้ำที่ดีจะส่งผลให้เกิดโรคและศัตรูพืชสูง เกษตรกรต้องควักเงินไปจ่ายค่ายาปราบศัตรูพืชเพิ่มขึ้น กิจกรรมการเกษตรไทยส่งผลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงลูกค้าในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นแหล่งรับซื้อข้าวราคาสูงได้เริ่มตั้งคำถามถึงกระบวนการทำการเกษตรของไทย ว่ามีความยั่งยืนมากน้อยเพียงใด ดังนั้นหากเรายังไม่ปรับตัว ไทยจะไม่สามารถแข่งขันต่อไปได้ และหนี้ภาคเกษตรหากยังเป็นอยู่แบบนี้และไม่ได้รับการแก้ไข วันหน้าจะยิ่งลำบาก และนำไปสู่หนี้ที่จะตกทอดให้แก่รุ่นถัดไปเรียกว่า “หนี้ข้ามรุ่น” เกิดปัญหาครอบครัวแหว่งกลาง ลูกหลานจะต้องไปทำงานในเมือง
(2) อะไรเป็นอุปสรรคในการปรับตัวของภาคเกษตรอีสาน เกษตรกรส่วนใหญ่ยังชินกับการทำเกษตรแบบเดิมจากผลของนโยบายภาครัฐที่ไม่สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรปรับตัว นอกจากนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยอาจปรับตัวไม่ทันกับความรู้ทั้งด้านการตลาดและเทคโนโลยี อีกทั้งปัญหาหนี้ภาคเกษตรที่เรื้อรังทำให้เกษตรกรยังทำเกษตรรูปแบบเดิมเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการปรับเปลี่ยน
(3) แนวทางการปรับตัวของภาคเกษตรอีสาน การปรับตัวของเกษตรกรจะมองความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเป็นอันดับแรก โดยปกติการปรับเปลี่ยนนำมาซึ่งต้นทุนและความเสี่ยงที่สูงขึ้น (เช่นเปลี่ยนจากการปลูกข้าวมาเป็นพืชชนิดอื่นที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่) แต่ถ้าให้เกษตรกรได้ลองลงมือทำและเห็นผลด้วยตัวเอง และมีการช่วยลดความเสี่ยงผ่านรูปแบบประกันความเสียหายในช่วงแรกควบคู่ไปด้วยจะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรปรับตัว โดยมี 5 แนวทางการปรับตัวสู่ความสำเร็จของเกษตรกร ดังนี้
• การคัดเลือกพันธุ์ที่ดีในการเพาะปลูก โดยเลือกพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง ทนทานโรค ใช้ปุ๋ยน้อย และใช้เมล็ดที่สมบูรณ์ ทำให้ไม่ต้องมาปลูกซ่อมทีหลังอีกซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนให้แก่เกษตรกร
• การจัดการที่มีประสิทธิภาพ หรือการทำนาแบบประณีต คือ การวางแผนให้ดีก่อนที่จะลงมือทำในแต่ละ
ขั้นตอน ตั้งแต่การไถเตรียมดินจนถึงการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งการทำนาประณีตสามารถลดต้นทุนได้ถึงประมาณ 40-50% เช่น ในขั้นตอนการหว่านนั้นถ้านาแห้ง การหยอดจะประหยัดกว่าเพราะใช้เมล็ดพันธุ์ลดลงและศัตรูพืชก็ลดลง ถ้าเป็นนาที่มีน้ำมากก็ใช้วิธีการดำนา การใส่ปุ๋ยควรใส่ให้ถูกเวลาและปริมาณที่เหมาะสมกับดิน และการจัดการหลังเก็บเกี่ยวควรไถกลบตอซังข้าวจะช่วยลดการใส่ปุ๋ยในการปลูกครั้งถัดไป
• การทำเกษตรที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน ต้องรู้ว่าปีนี้ฟ้าฝนเป็นอย่างไร ถ้าไปหว่านข้าวในช่วงที่ฝนตกหนัก ๆ ข้าวก็จะไม่งอกเพราะอาจจะเน่าหรือมีโรคแมลงมาก และเพื่อให้การเกษตรมีความยั่งยืน ควรตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนมากขึ้น เตรียมพร้อมรับมือ ควรจะมีการเก็บน้ำของตนเองและป้องกันการระเหยของน้ำจากโลกที่ร้อนขึ้น ประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ประสบความสำเร็จในด้านการเกษตรจะมีไซโลเก็บน้ำของตัวเอง ลักษณะจะคล้ายไซโลเก็บข้าวของไทย ข้อดีคือน้ำไม่ระเหย ซึ่งบ้านเราอาจจะนำมาประยุกต์ให้ถูกลงได้โดยการใช้ผ้าพลาสติกดำที่ใช้คลุมโรงเรือนมาปูพื้นบ่อน้ำ และปูคลุมปากบ่ออีกทีหนึ่งเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำซึมและระเหยออก
• การตลาดนำการผลิต ควรจะผลิตตามความต้องการของตลาดเป็นหลัก อย่างประเทศเวียดนามทำข้าวเมล็ดหอมยาวขาวนุ่มทางกายภาพเหมือนหอมมะลิที่ผลผลิตสูงขึ้น แต่ราคาต่ำลง ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้
• เทคโนโลยี เริ่มจากเทคโนโลยีง่าย ๆ จากสมุดและปากกาที่บันทึกกระบวนการปลูกข้าวตั้งแต่การหว่านข้าวการกำจัดวัชพืช การเก็บเกี่ยว ว่าเจอปัญหาอะไรบ้าง เพราะเมื่อเจอปัญหาที่เคยแก้ได้สำเร็จก็จะนำมาใช้แก้ปัญหาได้ทันที หรือหากยังแก้ไม่ได้ จะได้ลองหาวิธีใหม่เพื่อจะได้ไม่ต้องทำซ้ำกับวิธีการเดิม เพราะส่วนใหญ่เรามักจะลืมว่าเคยแก้ปัญหาอะไรไป อย่างไร
(4) ใครต้องทำอะไรบ้าง ในการขับเคลื่อนภาคเกษตรอีสาน จำเป็นต้องร่วมมือทั้งเกษตรกร ภาครัฐ และเอกชน โดยภาครัฐควรทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การมีแพลตฟอร์มรายงานคุณภาพดินแบบเรียลไทม์หรือแสดงผลได้ทันทีและตลอดเวลา เพื่อให้เกษตรกรได้รู้ว่าคุณภาพดินของแต่ละพื้นที่ ปีนี้ดินเป็นอย่างไร ดินเปรี้ยวหรือดินเค็ม ธาตุอาหารดินมีอะไร และต้องเติมธาตุอาหารอะไรบ้าง ทำให้เกษตรกรสามารถใช้ปุ๋ยที่เหมาะสมกับดินได้
ทั้งนี้ ภาครัฐทำหน้าที่ให้การสนับสนุนด้านข้อมูล และภาคเอกชนเป็นผู้จัดทำแพลตฟอร์มเนื่องจากภาคเอกชนมีความสามารถในการทำแอพพลิเคชันให้น่าใช้และใช้งานง่าย อีกเรื่องที่ภาครัฐควรทำคือโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ โดยเฉพาะระบบการจัดการน้ำให้ทั่วถึง และท้ายสุดภาคการเงินควรผลักดันแนวทางแก้หนี้เกษตรแบบยั่งยืน เริ่มจากการรู้จักศักยภาพการชำระหนี้ของเกษตรกรแต่ละรายว่ามีมากน้อยแค่ไหน เพื่อปล่อยกู้ให้เหมาะสม และควรจะปรับงวดการชำระหนี้ให้ตรงกับความสามารถของเกษตรกร เช่น เกษตรกรที่มีรายได้เข้ามาทุกเดือนจากรายได้ที่ลูกหลานส่งกลับมา งวดการชำระก็ควรจะทำให้เกษตรกรได้มาชำระได้บ่อยขึ้นจากเดิมที่ชำระปีละงวด ทำให้เกษตรกรมีวินัยการเงินมากขึ้น ลดโอกาสที่จะนำเงินไปใช้อย่างอื่นที่จำเป็นน้อยกว่า
จากที่กล่าวมาทั้งหมด ถ้าจะพูดถึงจุดเด่นสำคัญของเกษตรกรอีสาน คือ หากเขาเห็นตัวอย่างว่าการปรับเปลี่ยนใดทำแล้วเกิดความสำเร็จ เขาจะมีแนวโน้มปรับเปลี่ยนได้ไม่ยาก และหากเขาตั้งต้นได้แล้วเขาก็จะมีวิธีสานต่อให้ดียิ่งขึ้นได้เองตามจิตวิญญาณความเป็นเกษตรกรโดยพื้นฐานอยู่แล้ว นอกจากนี้ ภาครัฐเองก็มีข้อมูลที่พร้อมใช้ให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย และภาคเอกชนก็มีศักยภาพในการช่วยยกระดับ ดังนั้น หากทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจกัน โอกาสในการยกระดับเกษตรกรรมบ้านเราคงไม่ไกลเกินเอื้อม