guideubon

 

 

เปิดใจครูปุ๋ย “ครูของครู” เพชรแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ

เพชรราชภัฏ-ปิยาภรณ์-พิชญาภิรัตน์-01.jpg

จะเป็นเพชรเม็ดงามได้ต้องเก่งและดีแค่ไหนกัน?

รางวัล “เพชรราชภัฏ (ครุศาสตร์)” เป็นรางวัลที่ถือกำเนิดจากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ทั่วประเทศ (ทปอ.) กำหนดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติ ประกาศเกียรติคุณ และให้กำลังใจแก่อาจารย์ครุศาสตร์ที่มีความรู้ ความสามารถ อุทิศตนในการปฏิบัติหน้าที่ให้แก่มหาวิทยาลัย และปฏิบัติตน ตามจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างเหมาะสม ทั้งยังเป็นแบบอย่างที่ดีแก่อาจารย์ครุศาสตร์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่ง ซึ่งรางวัลดังกล่าวแบ่งออกเป็น 7 รางวัล ตามเขต ทปอ.ราชภัฏ ตามกลุ่มภูมิภาค โดยแบ่งออกเป็น 6 ภูมิภาค ได้แก่ กลุ่มภาคเหนือ กลุ่มภาคตะวันตก กลุ่มภาคกลาง กลุ่มภาคใต้ กลุ่มกรุงเทพมหานคร และกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เพชรราชภัฏ-ปิยาภรณ์-พิชญาภิรัตน์-02.jpg

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยาภรณ์ พิชญาภิรัตน์ หรือที่ลูก ๆ นักศึกษาคณะครุศาสตร์ เรียกกันว่า “ครูปุ๋ย” ประธานสาขาวิชาการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน (ค.ม.) และยังเป็นประธานศูนย์ฝึกประสบการวิชาชีพครู สังกัดคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี 1 ใน 2 คน จากกลุ่มภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็น 1 ใน 6 คน จากมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ที่ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการจัดกิจกรรมรางวัลเชิดชูเกียรติ “เพชรราชภัฏ” เข้ารับประกาศเกียรติคุณและรับโล่เชิดชูเกียรติ ฯ ประเภทอาจารย์ครุศาสตร์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2566 จาก พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ประธานที่ปรึกษา (กิตติมศักดิ์) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งเป็นประธานในพิธีถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องใน "วันราชภัฏ" เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร

ได้รับมอบโล่รางวัลเชิดชูเกียรติ “ผู้มีคุณูปการต่อสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา” เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ปีที่ 78 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566 และ “ครูปุ๋ย” ยังได้รับรางวัล “อาจารย์ดีเด่นรางวัลบุญถิ่นอัตถากร ปี 2565” และเข้ารับรางวัลเมื่อวันที่ 29 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันสถาปนากรมการฝึกหัดครูและการสถาปนาการฝึกหัดครูไทย ครบรอง 131 ปี ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

เรื่องเล่ายาว ๆ แต่สนุกให้ความรู้จากครูปุ๋ย

“ครูปุ๋ย” เล่าให้ฟังว่า ภาคภูมิใจสุด ๆ ในชีวิตความเป็นครู กับรางวัล“รางวัลเพชรราชภัฏ ครุศาสตร์” นับเป็นเกียรติประวัติของตนเองและครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง และเป็นความภาคภูมิใจของคณะครุศาสตร์ สร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และสิ่งสำคัญที่สุดคือเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนให้ตระหนักในความเป็น “คนของพระราชา ข้าของแผ่นดิน” ที่ต้องทำงานเพื่อตอบแทนคุณแผ่นดิน การน้อมนำพระบรมราโชบายทางด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มาสู่การปฏิบัติให้เกิดผล พร้อมทั้งน้อมนำหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นหลักคิดหลักปฏิบัติในการทำงานเพื่อส่วนรวม และการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ยึดมั่นในวิถีครู เป็นต้นแบบที่ดีให้กับลูกศิษย์เสมอมา

เพชรราชภัฏ-ปิยาภรณ์-พิชญาภิรัตน์-03.jpg

และทุกรางวัลที่ได้รับนั้น สร้างขวัญกำลังใจให้เป็นอย่างมาก ทำให้มีแรงใจในการพัฒนาตนเองในการเป็นผู้พัฒนานักศึกษาครุศาสตร์ให้เป็นครูที่เป็นคนดีและมีความสามารถ ออกไปสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม ประเทศชาติต่อไป

เส้นทางวิชาชีพของครูหลาย ๆ คน อาจมีความแตกต่างกัน สำหรับ “ครูปุ๋ย” นั้น ถือเป็นความงดงามหนึ่งของชีวิต เป็นวิชาชีพที่สามารถสร้างความงอกงามทางปัญญาและปลูกฝังคุณค่าความดีงามให้กับศิษย์ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด และเส้นทางของคำว่า “ครู” กล่าวได้ว่า “ครอบครัว” คือต้นทุนสำคัญของความเป็น ครู ภูมิลำเนาบ้านเกิดอยู่ที่บ้านสร้างปี่ ตำบลไผ่ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ คุณพ่อเป็นครูใหญ่ คุณแม่เป็นคุณครูชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ต่อมาได้รับมอบหมายให้สอนชั้นอนุบาลจนกระทั่งเกษียณอายุราชการ ญาติพี่น้องส่วนใหญ่ก็รับราชการครู

ตอนเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กำลังจะขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ตอนนั้นรัฐบาลมีโครงการผลิตครูชื่อ “โครงการคุรุทายาท” และพ่อก็ตั้งความหวังว่าอยากให้ลูกคนสุดท้องรับราชการครูสืบทอดปณิธานของพ่อกับแม่และวงศ์ตระกูล ชีวิตการเป็นนักศึกษาโครงการคุรุทายาท คือก้าวสำคัญของต้นทางวิชาชีพครู มีบททดสอบมากมาย ต้องผ่านการบ่มเพาะความเป็นครูอย่างเข้มข้น ทั้งวิชาการ วิชาชีพ วิชาชีวิต จิตวิญญาณและคุณลักษณะความเป็นครู

เพชรราชภัฏ-ปิยาภรณ์-พิชญาภิรัตน์-04.jpg

หลังจากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม วันที่ 1 กรกฎาคม 2539 เป็นวันเริ่มต้น “อาชีพครู” ที่โรงเรียนบ้านสมอ ซึ่งเป็นโรงเรียนเล็ก ๆ ในอำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ โรงเรียนที่ห่างจากบ้านกว่าร้อยกิโลเมตร แต่เป็นที่จุดประกายความรักและแสงไฟศรัทธาของคำว่า “ครู” การที่ได้รับมอบหมายให้สอนนักเรียนชั้นใดวิชาใดนั้นไม่สำคัญเท่ากับการได้ทำหน้าที่ครู

จำได้ว่า วันแรกที่บรรจุเข้ารับราชการ เป็นวันที่มีความสุขหัวใจพองโตจากการได้เห็นแววตาแห่งความสุขของพ่อกับแม่ กับความสำเร็จของลูกตามที่มุ่งหวังไว้ จากที่มีทั้งสองท่านเป็นแบบอย่างที่ดีทั้งอาชีพความเป็นครู และการใช้ชีวิต หากแต่การเป็นครูในยุคสมัยที่เทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้าเหมือนในปัจจุบัน การศึกษาองค์ความรู้ทางวิชาการจึงทำได้ผ่านการอ่านเป็นส่วนมาก อาทิ วารสารวิชาการ ที่จัดพิมพ์โดยกรมวิชาการและส่งมาที่โรงเรียนทุกโรง ทุกครั้งที่ได้อ่านก็จะได้แนวคิด วิธีการ และเทคนิคการสอนมาใช้กับนักเรียน โดยเฉพาะ “การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ” และ “การจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน” ที่ส่วนตัวแล้วให้ความสนใจเป็นพิเศษ นำมาใช้จัดการเรียนการสอนและพัฒนาต่อยอดสู่การประกวดความเป็นเลิศทางวิชาการของนักเรียนในเวทีระดับอำเภอ และระดับจังหวัด

เป็นผลให้ได้รับรางวัล “ครูเกียรติยศยอดเยี่ยม (Teacher Awards) สาขาครูบูรณาการ” ปี 2544 ของจังหวัดศรีสะเกษ และได้รับเกียรติบัตร “ครูต้นแบบปฏิรูปการเรียนรู้รางวัลครูเกียรติยศ” จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในปี 2545

เพชรราชภัฏ-ปิยาภรณ์-พิชญาภิรัตน์-05.jpg

ภายหลังจากการเสียชีวิตของคุณพ่อ ก็ได้ย้ายกลับมายังโรงเรียนใกล้บ้าน “โรงเรียนบ้านหนองหมี (ประชาวิทยาคาร)” อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ และตัดสินใจไปเรียนต่อระดับปริญญาโทภาคปกติ ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กรุงเทพมหานคร สาขาวิชาการประถมศึกษา และระดับปริญญาเอก สาขาวิชาการวิจัยและพัฒนาหลักสูตร

พอจบการศึกษาระดับปริญญาเอกจึงได้ตัดสินใจเปลี่ยนสายงานมาเป็นอาจารย์สอนในระดับอุดมศึกษา ที่คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เพียง 6 เดือน และ ได้มาสานต่อหน้าที่ครูที่คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2556 จนถึงปัจจุบัน เกือบ 10 ปี ในรั้วดอกจานเสมือนบ้านหลังที่สอง ใต้ร่มเงาเทา-ชมพู บ้านหลังใหญ่ บ้านแห่งความสุขแห่งนี้ และตลอดระยะเวลากว่า 27 ปี ของการทำหน้าที่ “ครูของครู”

“ตัวตนบนหนทางแห่งความเป็นครู”

ครูปุ๋ย เล่าต่อว่า “ใช้ใจสอนใจ” ใช้ความเป็นครูเข้าไปสัมผัส แล้วจะได้หัวใจของลูกศิษย์กลับมา ให้ทั้งครูและลูกศิษย์ได้เอื้อมมือถึงกันบนพื้นฐานแห่งความเข้าใจ ครูปุ๋ยจะตระหนักถึงตัวตนหนบนทางแห่งความเป็น “ครู” แล้วจะเปิดประตูให้ลูกศิษย์ได้เข้าถึงการเรียนรู้และเปิดใจได้ไม่ยาก และมักมักจะพูดกับลูกศิษย์เสมอ ๆ ว่า ครูเชื่อว่าเธอทำได้ แต่กว่าครูของครูจะปั้นลูกศิษย์ให้เก่งและดีได้ไม่ง่ายอย่างที่คิด เมื่อวิชาชีพครูไม่ได้อาศัยความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค หรือวิธีการที่มีกฎตายตัวเท่านั้น แล้วแบบไหนถึงจะผลิตครูได้ในยุคใหม่ได้ บทบาทของความเป็นครูเป็นได้มากกว่า “ผู้มอบวิชาความรู้” แต่เป็นการ “พัฒนาความเป็นมนุษย์อย่างเป็นองค์รวม” ให้กับผู้เรียน จากความเป็นครูกับศิษย์ที่มีใจเชื่อมโยงถึงกันได้ พัฒนาจิตวิญญาณความเป็นครูให้แก่อาจารย์ผู้สอน

เพชรราชภัฏ-ปิยาภรณ์-พิชญาภิรัตน์-06.jpg

ทำด้วยความรักมักจะมีความสุขเสมอ

สำหรับ “ครูปุ๋ย” การเปลี่ยนสายงานการสอนจากโรงเรียนมาสู่มหาวิทยาลัย เป็นคำถามที่ได้รับเสมอ และคำตอบที่ได้ตอบกลับไป คือ “โรงเรียน กับ มหาวิทยาลัย แตกต่างกันเพียง สถานที่ แต่สิ่งสำคัญที่ไม่แตกต่างกัน คือ “งานครู” งานครูเป็นงานของการเป็นผู้ให้ที่มีความสุขเสมอ “ครูปุ๋ย” มีครูทุกท่านในชีวิตเป็นต้นแบบ และ แรงบันดาลใจ

เป็นความโชคดีของชีวิตที่ได้รับความกรุณามีโอกาสเรียนรู้และประสบการณ์ที่มีคุณค่ามากมาย จากผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ผู้บริหารคณะ คณาจารย์ กัลยาณมิตรทุกท่าน ในเรื่องของการศึกษา เรียนรู้ องค์ความรู้สำคัญ ที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาตนเอง งานการสอน รวมถึงการมีส่วนร่วมในการพัฒนาครูและการศึกษาของทุกระดับจากการทำงานกับเครือข่ายทางวิชาการหลากหลายหน่วยงานทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ถือว่าเป็นแรงบันดาลใจที่มีคุณค่าและมีพลังต่อการเรียนรู้งานครูเสมอ

เพชรราชภัฏ-ปิยาภรณ์-พิชญาภิรัตน์-10.jpg

ตลอด 9 ปี ในการทำงานที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ได้มีโอกาสสอนนักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก และ ป.บัณฑิตวิชาชีพครู ทำให้ได้เรียนรู้ความเป็นครูทุก ๆ วัน สิ่งที่สะท้อนคิดกับตัวเองคือ “แม้จะมีประสบการณ์ครูยาวนานแต่ไม่เคยคิดว่าตนเองเป็นครูที่ดีที่สุด เพราะยังคงต้องพัฒนาความเป็นครูต่อไปทุก ๆ วัน ตลอดชีวิต” ซึ่งมักจะบอกลูกศิษย์ที่เป็น “ครู” เสมอว่า “คนที่จะสอนความเป็นครูให้กับเราได้ดีที่สุด คือ ลูกศิษย์ของเรา” ขอให้กำลังใจครูทุก ๆ คน และขอให้เชื่อในพลังปัญญา ความรัก ความศรัทธา และช่วยกันพัฒนาวิชาชีพครูสืบไป

เพชรราชภัฏ-ปิยาภรณ์-พิชญาภิรัตน์-07.jpg

เพชรราชภัฏ-ปิยาภรณ์-พิชญาภิรัตน์-08.jpg

เพชรราชภัฏ-ปิยาภรณ์-พิชญาภิรัตน์-09.jpg

 

copyright 2005 www.GuideUbon.com สำนักงานไกด์อุบลดอทคอม เลขที่ 89/1 ถนนพโลรังฤทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000 ติดต่อไกด์อุบล : webmaster@guideubon.com | msn : guide_ubon@hotmail.com | Tel : 080-4850511