ม.อุบลฯ หนุนผู้ประกอบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน อ.โขงเจียม
ดร.สมปอง เวฬุวนาธร ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและวิชาชีพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หัวหน้าโครงการวิจัยย่อย “การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเสมือนจริงเพื่อขับเคลื่อนวัฒนธรรมและเศรษฐกิจชุมชน อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี” นำทีมนักวิจัยและนักศึกษาสหกิจศึกษา ภาควิชาคณิตศาสตร์ สถิติและคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ ลงพื้นที่อำเภอโขงเจียมในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมหมอลำพื้นบ้านอีสาน พร้อมหนุนการขับเคลื่อนวัฒนธรรมและเศรษฐกิจชุมชน ชม ชิม ช้อป ภายใต้โครงการวิจัย “การขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ณ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
ดร.สมปอง เวฬุวนาธร ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและวิชาชีพ คณะวิทยาศาสตร์ หัวหน้าโครงการย่อย กล่าวว่า ในการลงพื้นที่ของทีมนักวิจัยโครงการ “การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเสมือนจริงเพื่อขับเคลื่อนวัฒนธรรมและเศรษฐกิจชุมชน อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี” ครั้งนี้ เพื่อสำรวจ สืบค้น และจัดเก็บข้อมูลทุนทางวัฒนธรรมพื้นที่อำเภอโขงเจียม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและส่งเสริมผู้ประกอบการเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนอำเภอโขงเจียม
ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยต้องขอขอบคุณสำหรับการให้ความร่วมมือและการต้อนรับจากภาคีเครือข่ายผู้ประกอบการพร้อมอนุญาตให้ทีมนักวิจัยเข้าถ่ายทำคลิปวีดีโอประชาสัมพันธ์กิจการ ได้แก่
- ร้านขนมไทยวาสนา โดย คุณวาสนา พุฒพิมพ์
- ร้านอินโขงเจียม คาเฟ่ & พิซซ่า โดย คุณปาณัท เหล็กเพชร
- ร้านกาแฟตึกขาว โดย คุณอภิญญา พรหมมีชัย และ
- ร้านอาหารในโรงแรมอารยารีสอร์ท โขงเจียมริเวอร์ไซด์ โดย คุณอารยา อยู่ดี ด้วยความยินดี
ซึ่งการลงพื้นที่ของทีมนักวิจัยยังได้รับความร่วมมือจาก (แม่ตู้) นางจิตรานุช ขยันการ หมอลำ “ชบา เพ็งดี” ในการบันทึกคลิปวีดีโอเพื่อถ่ายทอดกลอนลำรูปแบบศิลปวัฒนธรรมพื้นที่อีสานที่สามารถแบ่งออกตามลักษณะทำนองของการลำ เช่น ลำภูไท ลำตังหวาย ลำคอนสะหวัน ลำสีพันดอน และลำสาละวัน เป็นต้น
นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในการยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อผลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ที่มีเป้าหมายในการสร้างความเข้มแข็งและยกระดับมูลค่าเศรษฐกิจของเศรษฐกิจฐานราก โดยใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจในอนาคต จากการร่วมแรงร่วมใจทั้งภาครัฐและเอกชน ภายใต้การสนับสนุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว