เร่งออกเป็น พรบ. ให้ที่ดิน นสล. เป็นของวัดหนองป่าพง
วันที่ 26 เมษายน 2567 ที่วัดหนองป่าพง ตำบลโนนผึ้ง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร นำโดย นาย วีระพล จิดสัมฤทธิ์ รองประธานคณะกรรมาธิการฯ ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานฯ และ คณะกรรมาธิการ ได้เข้าตรวจเยี่ยม ดูงานเกี่ยวกับการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา โดยเข้ากราบนมัสการ พระเทพวชิรญาณ วิ. (เลี่ยม ฐิตธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง เพื่อรายงานผลการดำเนินงานกิจการของวัด โดยมี ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จากภาครัฐ ,ภาคเอกชน ,ประชาชน ร่วมรับฟังรายงาน
เนื่องจาก คณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้รับการร้องเรียนจาก นาย สมศักดิ์ บุญประชม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี กรณี ความล่าช้า และ ความคืบหน้า จากการที่ วัดหนองป่าพง ได้มีหนังสื่อแจ้งจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 เรื่อง ขอให้ รัฐบาล ออกเป็นพระราชบัญญัติ ให้ ที่ดินที่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ( นสล.) เป็นของวัดหนองป่าพง
โดยวัดหนองป่าพง มีที่ดินวัดที่ออกโฉนดที่ดิน แล้ว จำนวน 3 แปลง รวมเนื้อที่ประมาณ 228 ไร่ 3 งาน 55 ตารางวา ในส่วนที่ขอตราพระราชบัญญัติ มีจำนวน 3 แปลง คือ
แปลงที่ 1 เนื้อที่ดินประมาณ 100 ไร่ 2 งาน 64.2 ตารางวา
แปลงที่ 2 เนื้อที่ดิน ประมาณ 2 ไร่ 2 งาน 56.3 ตารางวา และ
แปลงที่ 3 เนื้อที่ดินประมาณ 3 ไร่ 3 งาน 96.7 ตารางวา
รวมเนื้อที่ 107 ไร่ 1 งาน 17.2 ตารางวา
ได้มีการดำเนินการ ผ่านหน่วยงานที่เกี่ยงข้อง เรื่อยมา จนกระทั่งลาสุด ได้มีการจัดการประชุมที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมี ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และ พระเถรานุเถระ ชั้นผู้ใหญ่ ,หัวหน้าส่วนราชการ ,ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ หน่วยงานภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ของจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมในการประชุม
นาย วีระพล จิดสัมฤทธิ์ รองประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า จากการประชุมดังกล่าว ได้ข้อสรุปในเบื้องต้นว่า อีกประมาณ 30 วัน จะมีการจัดทำประชาพิจารณ์ รับฟังความเห็นจากประชาชน เพื่อชี้แจงความจำเป็นของวัด สร้างการรับรู้และความเข้าใจให้มีความถูกต้องตรงกัน อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้มีความชัดเจน กว่าครั้งที่ผ่านมา
ทั้งนี้ วัดหนองป่าพง เป็นวัดป่าสายวิปัสสนากรรมฐาน ที่ปฏิบัติบำเพ็ญสมณธรรมของพระธุดงค์กรรมฐาน ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานที่สำหรับปฏิบัติ ฝึกฝน อบรมพระภิกษุ-สามเณร ผู้มุ่งสู่ความพ้นทุกข์ ให้เป็นผู้มักน้อย สันโดษ เสียสละ พากเพียรเพื่อมรรคผลนิพพาน และนำพาไปสู่การเป็นสมณะ ด้วยการรักษาวัตรปฏิบัติตามธรรมวินัย อันจะเป็นเหตุให้เกิดความเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็น ร่วมประคองค้ำชูพระศาสนาให้มีอายุยืนยาว เจริญรุ่งเรือง กระทั่งต่อมาได้เป็นศูนย์กลางการอบรมสั่งสอน ตามหลักแห่งพระพุทธศาสนา ให้กับนักปฏิบัติธรรมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ จนเป็นแรงศรัทธาเกิดสาขาขยายไปยังประเทศทั่วโลก
สุธน ประกอบพร/จังหวัดอุบลราชธานี