ได้ข้อสรุป เปิด-ปิด? ประตูเขื่อนปากมูล
วันที่ 21 มิถุนายน 2567 ที่ห้องประชุมอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี นายศุภศิษย์ กอเจิญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้นายสมมาตร โพธิ ปลัดจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในการประชุมหาหรือ ในการแก้ไขปัญหาการเปิดบานประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล หลังจากที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา มีมติให้กองโรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธร รักษาระดับน้ำที่สะพานเสรีประชาธิปไตย ให้อยู่ในระดับ 107 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง เฉลี่ยได้ไม่เกินบวกลบ 20 เซนติเมตร แล้วให้เริ่มทำการเปิดประตูระบายน้ำ ในวันที่ 17 มิถุนายน 2567 นั้น
ปรากฏว่าได้มีกลุ่มชาวบ้านที่อยู่บริเวณเขื่อนปากมูลจำนวน 3 หมู่บ้าน ได้แก่บ้านหัวเห่วหมู่ที่ 4 บ้านหัวเห่วพัฒนาหมู่ที่ 11 และบ้านแก่งตะนะ หมู่ที่ 1 มารวมตัวกันที่บริเวณสันเขื่อนปากมูล เพื่อคัดค้านการเปิด ไม่ให้มีการเปิดประตูระบายเขื่อนปากมูล พร้อมทั้งได้นำเรือหาปลาจำนวนหนึ่ง มาลอยลำไว้ทางด้านใต้ประตูเขื่อนปากมูล โดยอ้างเหตุผลว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำในแม่น้ำมูล ยังมีปริมาณที่น้อยอยู่ หากเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บาน จะทำให้น้ำมูลไหลลงสู่แม่น้ำโขงหมด และน้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร และน้ำอุปโภค บริโภค รวมถึงการทำการประมงด้วย หากปริมาณน้ำในแม่น้ำมูลมีมากว่านี้ จะไม่ขัดขวาง แต่ประการใด
ส่วนจากการประชุมหารือที่อำเภอโขงเจียมในวันนี้ ได้ข้อสรุปว่าในการเปิดประตูเขื่อนระบายน้ำเขื่อนปากมูลนั้น ให้เป็นไปโดยสันติ ป้องกันการเกิดปัญหา และเพื่อเป็นการเอื้อประโยชน์ด้วยกันทั้งหน่วยงานภาครัฐ และประชาชนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
จากนั้นในช่วงบ่ายปลัดจังหวัดอุบลราชธานี นายอาทิตย์ พรคุณา หัวหน้ากองโรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธร พร้อมด้วยผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงานเขื่อนสิรินธร ปลัดอำเภอโขงเจียม, ปลัดอำเภอสิรินธร, เจ้าหน้าที่ตำรวจ จากสถานีตำรวจภูธรสิรินธรและสถานีตำรวจภูธรโขงเจียม ได้ลงพื้นที่ไปพบกับกลุ่มชาวประมงบ้านหัวเห่วทั้ง 3 หมู่บ้าน
โดยกองโรงไฟฟ้าเขื่อนสรินธร เสนอให้มีการเปิดประตูระบายน้ำเพียงจำนวน 2 บาน จากทั้งหมด 8 บาน โดยให้เปิดความสูง 50 เซนติเมตร ทั้งนี้จะเริ่มเปิดตั้งแต่เวลา 09.00 -17.00 น. จากนั้นจะทำการปิดเครื่องในช่วงกลางคืน เพื่อให้ประชาชนที่อยู่เหนือเขื่อนได้มีน้ำในการทำการเกษตรได้ และประชาชนที่อยู่ท้ายเขื่อนก็สามารถทำการประมงได้เช่นเดียวกัน โดยเริ่มตั้งแต่วันนี้ จากนั้นจะมีการบริหารจัดการน้ำไปตามสถานการณ์จนกว่าจะมีปริมาณในแม่น้ำมูลเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสร้างความพอใจให้กับประชาชนและได้มีการสลายการชุมนุมไปในที่สุด
ภาพ/ข่าว สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอุบลราชธานี