ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยอุบลฯ ออกนอกระบบ
วันที่ 13 สิงหาคม 2567 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. … ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
เป็นการปรับปรุงการบริหารมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ แต่อยู่ในกำกับของรัฐ เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ มีความคล่องตัวและมีธรรมาภิบาล สามารถจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการปฏิรูปการอุดมศึกษา
รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ
สำหรับร่างพระราชบัญญัติที่ สคก. ตรวจพิจารณาแล้ว และยืนยันให้ดำเนินการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงการบริหารมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ แต่อยู่ในกำกับของรัฐ ซึ่งมีรายละเอียดสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. สถานะ วัตถุประสงค์ และการแบ่งส่วนงานของมหาวิทยาลัย
ร่างพระราชบัญญัติ ฯ มีการปรับเปลี่ยนสถานะของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจากส่วนราชการเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ และได้แก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสถาบันอุดมศึกษาตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการอุดมศึกษา รวมทั้งแสดงอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยที่มุ่งพัฒนาคนเพื่อการพัฒนาคนในท้องถิ่น ตลอดจนแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแบ่งส่วนงานภายในมหาวิทยาลัย เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและคล่องตัวขึ้น
2. อำนาจหน้าที่และรายได้ของมหาวิทยาลัย
ร่างพระราชบัญญัติ ฯ กำหนดอำนาจหน้าและหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเพื่อให้มีความชัดเจนและเกิดความคล่องตัวในการดำเนินการเรื่องต่าง ๆ รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในส่วนรายได้ของมหาวิทยาลัยเพื่อให้สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนสถานะของมหาวิทยาลัย
3. การดำเนินการของมหาวิทยาลัย
ร่างพระราชบัญญัติ ฯ ยังคงกำหนดให้สภามหาวิทยาลัยเป็นองค์กรบริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยโดยมีการแก้ไของค์ประกอบของสภามหาวิทยาลัยเพื่อให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษาที่กำหนดว่าสภามหาวิทยาลัยควรมีสัดส่วนกรรมการที่มาจากบุคคลภายนอกไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมด รวมทั้งกำหนดเพิ่มเติมให้มีสภาวิชาการและคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการของคณาจารย์มหาวิทยาลัย
4. การประกันคุณภาพและการประเมิน
ร่างพระราชบัญญัติ ฯ กำหนดบทบัญญัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษาและการประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากรในมหาวิทยาลัยเพิ่มเติม เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการอุดมศึกษา
5. การบัญชีและการตรวจสอบ
ร่างพระราชบัญญัติ ฯ กำหนดบทบัญญัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบัญชีและการตรวจสอบ เพื่อให้มหาวิทยาลัยมีการวางและรักษาระบบบัญชีที่มีประสิทธิภาพตามหลักวิชาการทางบัญชีที่ดี รวมทั้งสอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ
6. การกำกับดูแล
ร่างพระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดบทบัญญัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกำกับดูแลมหาวิทยาลัยโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนสถานะมหาวิทยาลัยมาเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ
7. บทเฉพาะกาล
- ให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ ภาระผูกพัน งบประมาณ และรายได้ รวมทั้งบรรดาข้าราชการลูกจ้าง และพนักงานของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตามพระราชบัญญัติเดิม ไปเป็นของมหาวิทยาลัยตามร่างพระราชบัญญัตินี้
- ให้บุคคลที่ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ เช่น สภามหาวิทยาลัย ยังคงดำรงตำแหน่งนั้นต่อไปจนกว่าจะมีการตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งนั้นตามร่างพระราชบัญญัตินี้
- ให้บรรดาพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติเดิมยังคงมีใช้บังคับต่อไปได้ จนกว่าจะมีการออกข้อบังคับ ระเบียบ หรือประกาศตามร่างพระราชบัญญัติ
ข้อมูลเพิ่มเติมจากวิกิพีเดีย ระบุว่า สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ หรือที่เรียกกันติดปากว่า มหาวิทยาลัยนอกระบบ คือ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่มีการบริหารการจัดการอิสระแยกจากระบบราชการ (autonomous university) แต่ยังได้รับเงินอุดหนุนทั่วไป (block grant) ที่รัฐจัดสรรให้เป็นรายปีโดยตรง เพื่อใช้จ่ายตามความจำเป็นในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย และเพื่อประกันคุณภาพการศึกษา
การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้น เป็นประเด็นขัดแย้ง เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยมีการวิเคราะห์ถึงข้อดีและข้อเสียของการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เช่น
ข้อดี
- เพื่อเกิดความคล่องตัวในการบริหารมหาวิทยาลัยมากขึ้น
- เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล
- มหาวิทยาลัยสามารถเปิดหลักสูตรเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานได้
ข้อเสีย
- ค่าเล่าเรียนอาจเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นการตัดโอกาสทางการศึกษาของผู้มีรายได้น้อยทางอ้อม
- คณะหรือหลักสูตรที่ไม่คุ้มทุนในการเปิดสอนอาจจะต้องปิดตัวลง
- การบริหารงานของฝ่ายบริหารอาจจะไม่โปร่งใส ตรวจสอบได้ยาก