อารยสถาปัตย์ ปรับปรุงบ้านพักอาศัยที่เหมาะสมสําหรับผู้สูงวัย
โครงการออกแบบปรับปรุงบ้านพักอาศัยที่เหมาะสมสําหรับผู้สูงวัย เป็นหนึ่งในโครงการบริการวิชาการแก่สังคม ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (มอบ.) โดยคณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยในการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข โดยมี ดร.ติ๊ก แสนบุญ คณบดีคณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ และ อาจารย์จักรภพ เสาเวียง ผู้รับผิดชอบโครงการ
กำหนดแผนดำเนินงาน ลงพื้นที่สำรวจข้อมูล ออกแบบ เขียนแบบ และดำเนินการปรับปรุงบ้านพักอาศัยที่เหมาะสมสําหรับผู้สูงวัย โดยความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับ ชุมชน และเทศบาลตำบลเมืองศรีไค ปรับปรุงบ้านพักของ ยายบุญสม แก้วสิง อายุ 80 ปี ช่วงระหว่างวันที่ 12-30 สิงหาคม 2567 ณ บ้านศรีไคออก หมู่ 4 ต.เมืองศรีไค อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
ดร.ติ๊ก แสนบุญ คณบดีคณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า โครงการออกแบบปรับปรุงบ้านพักอาศัยที่เหมาะสมสําหรับผู้สูงวัย ได้นำหลักอารยสถาปัตย์ หรือ Universal Design มาปรับใช้ในการออกแบบ เพื่อให้มีสภาพแวดล้อมและการใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบาย สามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ได้โดยไม่เกิดอุปสรรคในการใช้ชีวิต ยกระดับคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยในสังคม
ในกรณีของ คุณยายบุญสม แก้วสิง ปัจจุบันอายุ 80 ปี โครงการได้ลงพื้นที่ศึกษาสำรวจข้อมูลพร้อมให้การช่วยเหลือ ทราบมาว่าภายหลังจากพ่อแม่คุณยายเสียชีวิต พี่น้องต่างแยกย้ายกันไปมีครอบครัว คุณยายจึงพักอาศัยอยู่บ้านเพียงคนเดียวตามลำพัง มีอาชีพหลักคือการทำนา ปลูกผัก เผาถ่าน ดำเนินชีวิตแบบเรียบง่ายตามแบบวิถีชนบท ด้วยคุณยายสูงอายุต้องเดินโดยมีไม้เท้าค้ำ หลายครั้งที่คุณยายเกิดอุบัติเหตุ ลื่นล้ม ทำให้ดวงตาที่มองไม่ค่อยเห็น บ้านที่อยู่อาศัยปัจจุบันเป็นบ้านไม้ 2 ชั้น มีใต้ถุน การขึ้นลงบันได ค่อยข้างยากลำบากบันไดค่อยข้างชัน คุณยายลื่นตกบันไดมาแล้วหลายครั้ง โครงการจึงได้ดำเนินการปรับปรุงต่อเติมพื้นที่ใช้สอยบริเวณหน้าบ้าน แบ่งเป็นห้องนอน ห้องโถงและห้องน้ำให้มีความสะดวกสบาย และมีความปลอดภัยในการพักอาศัยตามลำพังคนเดียว
ทั้งนี้ โครงการออกแบบปรับปรุงบ้านพักอาศัยที่เหมาะสมสําหรับผู้สูงวัย คณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นการบูรณาการการเรียนการสอนด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ นำหลักอารยสถาปัตย์มาใช้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีสร้างความปลอดภัยต่อประชาชนกลุ่มเปราะบาง สนับสนุนเป้าหมาย ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อาทิ SDG3 สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย และ SDG11 ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย ทั่วถึง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน และสอดคล้องกับวิสัยทัศน์มหาวิทยาลัยที่ว่า “มหาวิทยาลัยชั้นนำในอาเซียน ที่ยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่สังคม”
เพลิน วิชัยวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ ม.อุบลฯ /ข่าว