อุบลฯ ชวนประดิษฐ์ผีเสื้อ 9 หมื่นตัว ประดับนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ 12 สิงหา
วันที่ 25 เมษายน 2565 นายทรงพล วิชัยขัทคะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานการประชุมการประดิษฐ์ผีเสื้อ เพื่อนำไปประดับในนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 โดยมี นายพิสดาร ประดา พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี นายธงชัย ครุฑแสน ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน นางกนกอร โพธิ์สิงห์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน นักวิชาการพัฒนาชุมชน เจ้าหน้าที่กลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี หัวหน้าส่วนราชการ คณาจารย์จากสถาบันการศึกษา ตลอดจนคณะวิทยากรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมฯ ณ ห้องประชุมสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี
รัฐบาลได้กำหนดจัดงานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระเกียติพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 โดยกำหนดจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ระหว่างวันที่ 1-15 สิงหาคม 2565 ณ บริเวณถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพมหานคร ซึ่งการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ จะนำผีเสื้อที่ประดิษฐ์จากผ้าไหมผ้าฝ้ายหรือผ้าตามอัตลักษณ์ของจังหวัดอุบลราชธานี ไปประดับในการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ด้วย
ในการนี้ นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้เชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในจังหวัด ร่วมกันประดิษฐ์ผีเสื้อที่ทำจากผ้าไหม ผ้าฝ้าย หรือผ้าตามอัตลักษณ์ของจังหวัด จำนวน 90 ตัว ที่มีขนาดและสีแตกต่างกันตามความเหมาะสม และจัดส่งให้กระทรวงมหาดไทย ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2565
โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ กำหนดการจัดฝึกอบรมการประดิษฐ์ผีเสื้อที่ทำจากผ้าไหม ผ้าฝ้ายหรือผ้าตามอัตลักษณ์ของจังหวัด เพื่อประดับในนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวันที่ 28 เมษายน 2565 ณ ห้องประชุม ศอ.ศอ.อนุสรณ์ 2563 สำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้ได้ผีเสื้อที่มีความสวยงามพร้อมส่งให้กระทรวงมหาดไทย จำนวน 90 ตัว
ซึ่งผู้ถ่ายทอดเทคนิค (ชุด A) จำนวน 5 หน่วยงาน ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, กศน.จังหวัดอุบลราชธานี และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน ภาค 7 ส่วนผู้เข้าร่วมการฝึกอบรม (ชุด B) จำนวน 20 กลุ่มๆ ละ 5 คน จำนวน 100 คน ได้แก่ สมาคมช่างตัดเสื้อ, คณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัด, กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี, หอการค้าจังหวัด, ครูและนักเรียนกศน., กลุ่มอาชีพ OTOP, เยาวชน, นักศึกษา ม.อุบลฯ, นักศึกษา ม.ราชภัฏอุบลฯ, นักศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลฯ, สมาคมคนพิการ, สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 7, ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ และแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอุบลราชธานี
ในส่วนของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับผิดชอบในการแจ้งประสานขอความร่วมมือในการจัดหาผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าอัตลักษณ์ ของอำเภอทั้ง 25 อำเภอ และผ้าอัตลักษณ์จังหวัด รวม 26 ลาย พร้อมทำเรื่องราว (Story) โดยมี สำนักงานจังหวัดอุบลราชธานี สนับสนุนงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ในการประดิษฐ์ผีเสื้อ และจัดทำข่าวประชาสัมพันธ์ (G-News) ด้วย
ทั้งนี้ จังหวัดอุบลราชธานี ได้กำหนดจัดทำผีเสื้อ จำนวน 90,290 ตัว ซึ่งหมายถึง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง โดย 90 หมายถึง 90 พรรษา และจัดสรรงงประมาณการทำผีเสื้อทั้งหมด ให้อำเภอไปดำเนินการตามขนาดของอำเภอ S M L โดยมอบหมายให้ กศน.จังหวัดฯ เป็นผู้รับผิดชอบ และส่งผีเสื้อให้จังหวัด เพื่อจัดแสดง ณ ทุ่งศรีเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี ตลอดเดือนสิงหาคม 2565 ภายใต้ชื่อ "ดอกไม้และผีเสื้อแห่งความภักดี" โดยมีความหมาย ดังนี้ ดอกไม้ คือ ดอกไม้ป่าที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานชื่อ ดอกไม้ป่า 5 ชนิด ณ วนอุทยานน้ำตกผาหลวง อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ มณีเทวา ดุสิตา สร้อยสุวรรณา สรัสจันทร ทิพย์เกสร
ขณะที่ นายทรงพล วิชัยขัทคะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้เชิญชวนทุกกลุ่มอำเภอ ประดิษฐ์ดอกไม้ป่า ทำดอกไม้ป่า 5 สี เช่น สีขาว สีเหลือง สีม่วง สีชมพู สีม่วงอ่อน ประดับในลานผีเสื้อแห่งความภักดี ณ ทุ่งศรีเมือง เพื่อให้ประชาชนได้ชม รวมถึงจัดทำฐานการเรียนรู้ในการฝึกอบรมการประดิษฐ์ผีเสื้อ ในวันที่ 28 เมษายน 2565 ตลอดจนแนวทางในการจัดสรรโครงการหรือกิจกรรมในการประดิษฐ์ผีเสื้อเพื่อนำไปประดับในนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565