9 มิ.ย.65 ปลดล็อกพืชกัญชา กัญชง จากยาเสพติดให้โทษ
วันที่ 2 มิถุนายน 2565 นายแพทย์สุวิทย์ โรจนศักดิ์โสธร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้เภสัชกรหญิง กาญจนา มหาพล รองนายแพทย์สาธารณสุข และเภสัชกร กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี จัดกิจกรรมให้ความรู้ แก่ประชาชน “9 มิ.ย.65 ปลดล็อกพืชกัญชา กัญชง จากยาเสพติดให้โทษ” ณ ลานกิจกรรม ตลาดมาระแม ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานและให้สัมภาษณ์ข่าวกับสื่อมวลชน
ประเด็นการเตรียมการของจังหวัดอุบลราชธานี ปลดล็อกกัญชา กัญชง ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 จะมีผลบังคับใช้ ทำให้กัญชา กัญชง ไม่ใช่ยาเสพติดประเภทที่ 5 ทั้งส่วนของช่อดอก ใบ กิ่ง ก้าน ลำต้น ราก รวมทั้ง สารสกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงที่มีสาร THC ไม่เกินร้อยละ 0.2 นั้น
ส่งผลให้ประชาชนสามารถปลูกพืชกัญชา พืชกัญชงได้ โดยไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษ และไม่ต้องขออนุญาต ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 จนกว่าพระราชบัญญัติพืชกัญชา กัญชง ฉบับใหม่ จะมีผลบังคับใช้ และสามารถนำส่วนต่างๆ ของพืชกัญชา กัญชง มาพัฒนาและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ได้แก่ อาหาร เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อสร้างเศรษฐกิจ (BCG Economy Model) ให้กับจังหวัดอุบลราชธานี เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ 9 มิถุนายน 2565 ปลดล็อกกัญชา กัญชงเพื่อสุขภาพ และสร้างเศรษฐกิจ
สำหรับประชาชนที่จะปลูกกัญชา กัญชง เพื่อใช้ดูแลสุขภาพ(ส่วนบุคคล/ในครัวเรือน) หรือเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป จนกว่าพระราชบัญญัติพืชกัญชา กัญชง ฉบับใหม่ จะมีผลบังคับใช้ ไม่ต้องขออนุญาตปลูก แต่ อย. ขอความร่วมมือให้จดแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ” หรือเว็บไซต์ http://plookganja.fda.moph.go.th ด้วยตนเอง หรือ ให้เจ้าหน้าที่รับจดแจ้งแทน ณ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี / องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี
ทั้งนี้ แหล่งที่มาของกัญชา กัญชง ที่ปลูกต้องมาจากผู้ได้รับอนุญาตเดิม/หน่วยงานรัฐ(จังหวัดอุบลราชธานี มี สถานที่ปลูกกัญชาที่ได้รับอนุญาต จำนวน 20 แห่ง,กัญชงจำนวน 17 แห่ง,จากโครงการปลูกกัญชา 1 ล้านต้น (สวพ.4) และจากการนำเข้า
โดยแอปพลิเคชัน "ปลูกกัญ" สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ IOS และ Android เพื่อออกใบรับจดแจ้งในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 โดยจดแจ้งเพียง 3 ชั้นตอนง่าย ๆ คือ
1. ลงทะเบียน
2 จดแจ้งตามวัตถุประสงค์
3. รับเอกสารจดแจ้งอิเล็กทรอนิกส์
ซึ่งจะทำให้ทราบจำนวนและแหล่งที่ปลูกกัญชา และกัญชงทั่วประเทศ อีกทั้ง ยังเป็นแหล่งข้อมูลให้ผู้ประกอบการแสวงหาวัตถุดิบเพื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน ออกสู่ตลาดเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาลอีกด้วย หากมีข้อสงสัยสอบถาม ได้ที่ call center โทร 1556 กด 3
กัญชา กัญชง เป็นสิ่งต้องห้าม ตาม พรบ. กักพืช พ.ศ. 2507 การนำเข้าส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่น ช่อดอก ใบ กิ่ง ก้าน ราก ลำต้น หรือ เมล็ดกัญชากัญชง ต้องขออนุญาตนำเข้า ที่กลุ่มควบคุมพันธุ์พืช สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร
เมล็ดกัญชา กัญชง ถูกควบคุมตาม พรบ.พันธุ์พืช พ.ศ. 2518 การขาย นำเข้า ส่งออก ต้องขออนุญาตที่กลุ่มควบคุมพันธุ์พืช สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร
สารสกัดจากส่วนต่างๆของพืชกัญชา กัญชง ได้แก่ ดอก ใบ กิ่งก้าน ราก ลำต้น เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตยา อาหาร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรือ ผลิตภัณฑ์อื่นๆ (เพื่อประโยชน์ทาง การแพทย์ การวิจัย พาณิชย์ หรือ อุตสาหกรรม) ไม่ว่าสารสกัดที่ได้จะมี ปริมาณ THC เท่าใดก็ตาม ต้องขออนุญาตผลิต(สกัด) ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 กัญชา หรือ กัญชง ตามกฎหมาย ว่าด้วยยาเสพติด
ในส่วนของผลผลิตจากกัญชา กัญชง หากต้องการแปรรูปเป็น ผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร อาหาร และเครื่องสำอาง ที่มีกัญชากัญชงหรือ สารสกัดจากพืชกัญชากัญชงเป็นส่วนประกอบ การขออนุญาตให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วย ยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร อาหาร หรือเครื่องสำอาง และต้องได้รับอนุญาตโดยเลขาธิการ อย.
เมื่อปลดล็อกแล้ว ประชาชนสามารถปลูกกัญชา กัญชง เพื่อใช้ดูแลสุขภาพ (ส่วนบุคคล/ในครัวเรือน) หรือเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ การนำไปใช้ให้เหมาะสมถือเป็นสิ่งที่สำคัญ ขอให้รับข้อมูลข่าวสารด้านกัญชาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ รู้ข้อมูลกัญชาที่ถูกต้องก่อนนำไปใช้ เฝ้าระวังการนำไปใช้ในบุคคลกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี คนไข้จิตเวช สตรีมีครรภ์/ให้นมบุตร ห้ามรับประทาน ที่สำคัญหากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที
จังหวัดอุบลราชธานี สนับสนุนการใช้กัญชา กัญชงเพื่อสุขภาพ และสร้างเศรษฐกิจ ต่อต้านการสูบ และการใช้เพื่อสันทนาการ
ขอให้พี่น้องประชาชนเฝ้าติดตามข้อกฎหมาย พระราชบัญญัติกัญชา กัญชง ออกมาใช้บังคับ ซึ่งจะมีรายละเอียดข้อบังคับ แนวทางต่างๆ ประกาศออกมาให้ประชาชนได้รับทราบภายหลัง หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามผ่านทางเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th หรือสายด่วนกัญชา กัญชง 1556 กด 3 และกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เบอร์โทรศัพท์ 091-1644324 ในวันและเวลาราชการ