นิติศาสตร์บัณฑิต ม.อุบลฯ กับตำแหน่ง อัยการผู้ช่วยคนแรกของมหาวิทยาลัย
นายเสรี สีหลิ่ง นิติศาสตรบัณฑิต รุ่นที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธาี สามารถสอบบรรจุตำแหน่งอัยการผู้ช่วย ได้สำเร็จ นับว่าเป็นบัณฑิตนิติศาสตร์ คนแรกของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ประสบความสำเร็จในสายวิชาชีพ ด้วยวัยเพียง 27 ปี เท่านั้น
นายเสรี สีหลิ่ง ภูมิลำเนาอยู่ที่ บ้านคำบง ตำบลคำบง อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ สำเร็จการศึกษา ปริญญานิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รุ่น 4 เมื่อปีการศึกษา 2554 ด้วยเกรดเฉลี่ย 3.71 หลังจากสำเร็จการศึกษา ได้ศึกษาต่อที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา เนติบัณฑิต สมัยที่ 64 ในช่วงระหว่างเรียนสอบบรรจุเป็นพนักงานราชการในตำแหน่งนิติกร ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา หลังจากเรียนจบเนติบัณฑิต ได้สอบบรรจุรับราชการ สังกัดสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตำแหน่งนิติกร พร้อมทั้งนี้ได้ปฏิบัติในตำแหน่งหน้าและเตรียมตัวสอบอัยการผู้ช่วย ซึ่งเป็นอีกความฝัน หรือเป้าหมายชีวิตของเด็กหนุ่มจากชนบท แห่งเมืองน้ำดำ จังหวัดกาฬสินธุ์
นายเสรี สีหลิ่ง กล่าวถึงเป้าหมายจุดเปลี่ยนความคิดว่า แรกเริ่มของการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ตอนเรียนปี 1 คือ อยากเรียนให้ได้เกียรตินิยม แต่เป้าหมายก็เปลี่ยนไป เพราะสอบไม่ผ่านบางวิชา (วิชาเอกเทศสัญญา1) ความหวังด้านการการเรียนกฎหมาย จึงเริ่มเปลี่ยนเพื่อนๆต่างให้กำลังใจ แม้แต่อาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ศรีสดา ไพศาลสกุลชัย ท่านได้ให้กำลังใจและข้อคิดว่า “เสรี เห็นรถยนต์ เครื่องบินไหม ทำไมเขาสร้างขึ้นมาได้ คือครูเชื่ออยู่อย่างหนึ่งนะว่า ในโลกนี้ถ้าคนเราตั้งใจทำอะไรแล้ว ไม่มีอะไรหรอกที่คนเราทำไม่ได้” ซึ่งตนได้จดจำคำสอนนี้มาตลอด
หลังจากนั้นจึงลุกขึ้นอีกครั้งรวบรวมสติทบทวนตัวเองว่า พร้อมเปลี่ยนวิธีการเรียนกฎหมายใหม่ โดยถามอาจารย์บ้าง ศึกษาจากประสบการณ์ของรุ่นพี่ หรือคนที่ประสบความสำเร็จในการเรียนกฎหมายนำมาประยุกต์ใช้เฉพาะที่เหมาะสมกับตัวเอง ซึ่งมันทำให้การเรียนกฎหมายเป็นรู้หลักการ แนวคิด จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และได้สอบผ่านในชั้นเนติบัณฑิต สอบอัยการผู้ช่วยได้ตามลำดับ
นายเสรี สีหลิ่ง กล่าวถึงการวางแผนสู่ความสำเร็จในครั้งนี้ว่า หลังจากที่ตนได้ศึกษากฎหมายมาพอสมควร จึงรู้ว่าตนเองอยากจะเป็นอัยการ ตอนเรียนนิติศาสตร์ปี 4 ซึ่งได้ทำรายงานเกี่ยวกับการกระทำความผิดของเด็ก และมีโอกาสไปสัมภาษณ์อัยการที่ดูแลคดีเกี่ยวกับเด็ก ได้เห็นคดีต่างๆเกี่ยวกับการกระทำความผิดของเด็ก ตนจึงอยากนำความรู้ที่มีไปใช้กับคดีเหล่านี้ ช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับการกระทำความผิดเหล่านี้ จึงเป็นเป้าหมายของชีวิตในการสอบเป็นอัยการนับตั้งแต่นั้นมา
ซึ่งคุณสมบัติผู้มีสิทธิ์สอบอัยการผู้ช่วยนั้น ต้องมีอายุครบ 25 ปีขึ้นไป และต้องประกอบอาชีพทางกฎหมายไม่น้อยกว่า 2 ปี ในช่วงรับราชการที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตนได้ศึกษาข้อมูลอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมตัวสอบเมื่อครบกำหนด อาศัยความอดทนและความพยายามทำอย่างสม่ำเสมอ จนสมัครสอบ และสอบตามกระบวนการ ประกาศ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2558 ผลปรากฏว่ามีรายชื่อติด 1 ในจำนวนผู้สอบผ่านตำแหน่งอัยการผู้ช่วย
ทันทีที่ทราบผลสอบว่าสอบได้ ตนรู้สึกดีใจมาก และสิ่งแรกที่ทำคือโทรบอก ผู้หญิงที่มีความสำคัญที่สุดในชีวิต นั่นคือ แม่ ตนบอกกับแม่ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่าลูกชายทำสำเร็จแล้ว พูดไปพร้อมกับน้ำตาที่ไหลซึมจากความรู้สึกข้างในแห่งความสำเร็จ แม่คือเบื้องหลังแห่งความสำเร็จในครั้งนี้ ท่านจะเป็นกำลังใจอยู่เคียงข้างมาโดยตลอดแม้จะสุขหรือทุกข์ จึงถือโอกาสนี้ตอบแทนท่าน เป็นของขวัญพิเศษให้ท่านในโอกาสวันแม่แห่งชาติ 2558 นี้
ทั้งนี้ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีคำสั่ง ลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2558 ให้ นายเสรี สีหลิ่ง พนักงานอัยการช่วยราชการ และปฏิบัติราชการ ที่สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการ สำนักงานคดียาเสพติด ปฏิบัติราชการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดียาเสพติด 2
ด้าน นายสหรัส โนทะยะ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาฯ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า นับว่าเป็นความสำเร็จอีกก้าวของบัณฑิตแห่งคณะนิติศาสตร์ ม.อุบลฯ ที่ประสบความสำเร็จ สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับคณะและสถาบันได้อย่างภาคภูมิ ถือว่าเป็นแบบอย่างที่ดี แก่รุ่นน้อง ด้านการสร้างขวัญกำลังใจ เป็นใบเบิกทางในสายวิชาชีพ และแสดงถึงมาตรฐานทางการศึกษาของคณะได้เป็นอย่างดี ถึงแม้ว่าคณะนิติศาสตร์เป็นคณะที่ก่อตั้งแล้วมากว่า 10 ปี แต่ที่ผ่านมาผลงานของบัณฑิตก็เป็นที่น่าพอใจของทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นที่ยอมรับในสังคม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงเป็นอีกหนึ่งคณะที่มีผู้สนใจเข้าศึกษาจำนวนมากในทุกปี ซึ่งเราเตรียมพร้อมในการจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ อีกด้วย