เสวนาโอกาสทางธุรกิจของไทยใน AEC ชูอุบล เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค
วันที่ 21 พฤษภาคม 2558 บริษัท มิลเลนเนียม ออโต้ อุบลราชธานี จำกัด งานเสวนาทางธุรกิจ AEC Business Opportunity Forum เพื่อเผยแพร่ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ธุรกิจของภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะข้อเปลี่ยนแปลงเมื่อเริ่มเปิด AEC ให้กับลูกค้าระดับองค์กร นักธุรกิจชั้นนำ ข้าราชการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ที่โชว์รูม มิลเลนเนียม ออโต้ จังหวัดอุบลราชธานี
ดร.สัณหวุฒิ ธรรมชวนวิริยะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิลเลนเนียม ออโต้ จำกัด ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู และมินิ อย่างเป็นทางการ ในเครือบริษัท มาสเตอร์ กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด หรือ เอ็มจีซี-เอเชีย เปิดเผยว่า จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง บริษัทจึงได้จัดงานเสวนาทางธุรกิจในหัวข้อ ” โอกาสทางธุรกิจของประเทศไทยในเออีซี ( AEC Business Opportunity Forum )” ขึ้นที่โชว์รูม มิลเลนเนียม ออโต้ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกับภาคเอกชน องค์กรธุรกิจชั้นนำ เพื่อเตรียมความพร้อม และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันได้อย่างแข็งแกร่งในเวทีอาเซียน ทั้งยังเป็นการส่งเสริมนโยบายภาครัฐในการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อย่างยั่งยืนในอนาคต โดยมี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน, คุณชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) , มร.แมทธิอัส พฟาลซ์ ประธาน บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย และ คุณชวลิต องควานิช ประธานที่ปรึกษา หอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี ให้เกียรติร่วมเสวนา
ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ได้กล่าวในงานเสวนาว่าการรวมตัวของประชาคมอาเซียน จะทำให้อาเซียนมีกำลังต่อรองทางการค้ากับประเทศมหาอำนาจมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ อาเซียน บวก 6 ประเทศ คือ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และอินเดีย จะมีประชากรราว 50% ของโลก ยังผลให้มีเม็ดเงินทุนไหลเข้าประเทศ เกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตามหัวเมืองใหญ่ เศรษฐกิจเติบโต ประชาชนมีรายได้ เกิดชนชั้นกลางมากขึ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้มีกำลังซื้อสูง ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
“ รายงานตัวเลขจากนักลงทุนต่างชาติระบุว่า ในแต่ละปี มีการลงทุนกว่า 1.4 แสนล้านดอลล่าสหรัฐฯ และ 70% ของเม็ดเงินดังกล่าวนี้เข้ามาลงทุนในภาคการบริการในอาเซียน อาทิ ลอจิสติค การคมนาคมและสุขภาพ นั่นเพราะชนชั้นกลางต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในอนาคตเกินครึ่งของอาเซียนจะเป็นชนชั้นกลาง คือกว่า 400 ล้านคน เพราะอนาคต 3-4 ปีข้างหน้าอาเซียนจะไม่มีประชากรเพียงแค่ 600 ล้านคน ปรากฎการณ์ Sense of luxury แบบนี้เกิดขึ้นแล้วใน จีน อินเดีย และอีสเอเชีย โดยอาเซียนเป็นไข่แดงอยู่ตรงกลาง จีดีพีของอาเซียนนั้น รวมกันแล้วก็ตกประมาณ 2.4 ล้านล้าน (Trillion) ดอลลาร์สหรัฐ ทุกๆปีเติบโต 6% มีการลงทุนมากขึ้น และต้องยอมรับว่า จีนคือจิ๊กซอเชื่อมโยงการเติบโต แม่โขงซับรีเจียน ( GMS ) คือกลไกสำคัญต่อเศรษฐกิจของจีนและเมื่อรวมกัน นี่จะเป็นตลาดที่จะใหญ่ที่สุดในโลก ฉะนั้น คุนหมิง สิงคโปร์เรียลเวย์ คุนหมิงแบงคอกไฮเวย์ นี่คือปรากฎการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น แน่นอนว่าประเทศต่างๆ ยุโรป ญี่ปุ่น อเมริกาล้วนหลั่งไหลมา เพราะที่นี่เป็นอีกแรงผลักดันที่ทำให้ประเทศเหล่านั้นโตขึ้นเช่นกัน และแม้ว่าเวทีอาเซียนจะเปิดกว้างขึ้น แต่ฐานการผลิต และตลาดใหญ่สุดของรถยนต์ ยังอยู่ที่นี่ อินฟราสตรัคเจอร์ดีที่สุดอยู่ที่ประเทศไทยนี้เช่นกัน ” ดร.สุรินทร์ กล่าว
ด้านนายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า การหลอมรวมเป็น AEC เป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย เพราะขนาดของตลาดได้เพิ่มเป็น 600 ล้านคน แต่จุดที่น่าสนใจคือประเทศเพื่อนบ้านของไทยคือกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงหรือ CLMV นั่นคือ ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ และเวียดนาม ซึ่งมีประชากรรวมกันถึง 170 ล้านคน ซึ่งเมื่อนับรวมกับไทยแล้วขนาดของตลาดจะพุ่งไปถึง 250 ล้านคน ฉะนั้นวันนี้ไทยต้องมองถึงการส่งออกระดับ 250 ล้านคน ล่าสุดนั้นตัวเลขการส่งออกของไทยไปยังกลุ่ม CLMV มีมากกว่าไปสหรัฐอเมริกา และการเติบโต 18% และกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้อยู่ในวัยหนุ่มสาวมีกำลังซื้อ ส่งผลให้จีดีพีของประเทศเหล่านี้เติบโตอย่างต่อเนื่องหลายปีติดต่อกัน อาทิ ลาว,เมียนมาร์ขยายตัวที่ระดับ 8% กัมพูชา 7.5% และเวียดนาม 5.5% ส่งผลให้รายได้ประชาชาติของแต่ละประเทศปรับตัวสูงขึ้น ที่สำคัญคือกลุ่มประเทศเหล่านี้นิยมสินค้าที่ผลิตจากไทยเป็นอันมาก
โดยอุบลราชธานีเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่เชื่อมต่อ 3 ประเทศ คือไทยลาว กัมพูชา ทั้งนี้เมื่อมีเส้นทางสายใหม่ที่เชื่อมประเทศเหล่านี้เข้าด้วยกัน อีกทั้งจีนที่ต้องการสร้างเส้นทางสายไหมทางทะเลใหม่ ( New Martime Silk Road ) เพื่อเชื่อมเส้นทางการค้าของทุกประเทศเข้าสู่จีน นั่นหมายถึงว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆเหล่านี้ จะเปลี่ยนภาคอีสานและอุบลราชธานีให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ซึ่งแบงค์กรุงเทพนั้นมีความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงนี้ เนื่องจากได้ออกไปตั้งสาขาใน AEC นานแล้ว โดยใน ปีนี้จะมีสาขา 9 ใน 10 ประเทศ ทางแบงค์จึงพร้อมจะช่วยลูกค้าทุกระดับ ตลอดจนซัพพลายเชน ให้ได้ประโยชน์สูงสุด
มร.แมทธิอัส พฟาลซ์ ประธาน บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวว่า ในปี 2014 เป็นปีที่ดีที่สุดของ เอ็มดับเบิลยูทั่วโลก ด้วยยอดขายที่เกินกว่า 2 ล้านคัน จนสามารถขึ้นเป็นผู้นำในตลาดรถพรีเมียม ในปี 2009 -2013 ยอดในไทยเติบโตถึง 3 เท่า โดยเฉพาะแบรนด์มินิเติบโตถึง 51% โดยที่ตลาดไทยเป็นตลาดที่โตสุดในโลก ขณะที่มอเตอร์ไซค์ขยายตัวถึง 75% เครือข่ายดีลเลอร์ในไทย ไม่เพียงจะประสบความสำเร็จ ขณะเดียวกันบริษัทยังได้รับรางวัลมากมายในย่านนี้ จึงเป็นแรงสะท้อนจากตลาดไทยที่ส่งให้บีเอ็มฯแข็งแกร่งในภูมิภาคอาเซียนนี้
“ อาเซียนและอียูล้วนมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่ต่างกันคืออียูใช้สกุลเงินเดียวกัน นั่นเพราะการผ่านความเจ็บปวดของสงคราม 70 ปีที่ผ่านมาจึงทำให้อียูเดินไปในทิศทางเดียวกันได้ เราเปิดโชว์รูมที่นี่ก็เพื่อรองรับอาเซียน ก่อนหน้านี้เราก็เริ่มที่ขอนแก่นและอุดรธานีแล้ว ไทยคือกลุ่มประเทศ Next 10 ที่เราเลือกลงทุนในอาเซียน รวมทั้ง มาเลเซียและสิงคโปร์ 3 ประเทศหลักเหล่านี้จะยิ่งมีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลกในอนาคต โดยไทยถือเป็นตลาดที่สำคัญที่สุด เป็นฐานผลิตยานยนต์ที่สำคัญที่ยานยนต์โลกจับตา มียอดการผลิตใหญ่เป็นอันดับ 9 ในตลาดโลก “
สำหรับทิศทางของการพัฒนาผลิตภัณฑ์นั้นในปี 2025 นั้นจะเป็นปีที่เห็นได้ชัดเจนว่ารถที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นเติบโตอย่างมาก โดยล่าสุดนี้ รถตระกูล i มียอดขายเพิ่มสัดส่วนขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะ i8 นั้นมียอดขายทั่วโลกมากกว่าพันคัน ปัจจุบันไทยเป็นโรงงานเดียวในโลกที่ผลิตทั้ง 3 แบรนด์ คือ มินิ บีเอ็มดับเบิ้ลยู และมอเตอร์ไซค์
ทางด้านนายชวลิต องควานิช ประธานที่ปรึกษา หอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่าจังหวัดอุบลราชธานี สามารถเชื่อมต่อการท่องเที่ยวไปยังประเทศกัมพูชา และ ลาว เนื่องจากขณะนี้มีเส้นทางคมนาคมสายใหม่เกิดขึ้น ทั้ง ถนน อาร์ 8 อาร์ 9 และ อาร์ 12 เชื่อมไทย ลาว เวียดนาม และจีนฝั่งตะวันออก จนถึงนครหนานนิง ซึ่งจะหนุนให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานี เป็นจุดยุทธศาสตร์ และ ศูนย์กลางของภูมิภาค ที่นักลงทุนใช้เป็นฐานการผลิตป้อนอาเซียน และ จีน ขณะเดียวกันก็สามารถพัฒนาไปสู่การท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศลาวและกัมพูชาที่มีเขตแดนติดต่อกับไทย ในรอยต่อของ 3 ประเทศคือ สามเลี่ยมมรกต ( The Emerald Triangle) นี้ได้เป็นอย่างดี