รู้แล้วทึ่ง!! อุบลฯ มีเชฟอาหารญี่ปุ่นมากกว่า 200 คน เป็นเชฟกันทั้งหมู่บ้าน
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2561 กระแสรายการมาสเตอร์เชฟประเทศไทย หรือ MasterChef Thailand ที่ออกอากาศเป็นซีซั่นที่ 2 แล้ว ทำให้หลายๆ คนอยากมีอาชีพเป็นคนทำอาหาร หรือ "เชฟ" กันมากมาย ไกด์อุบลสัมภาษณ์เชฟอาหารญี่ปุ่น ร้านโอชิเน สาขาอุบล พบว่า ในจังหวัดอุบลราชธานี มีคนทำอาชีพเชฟเฉพาะอาหารญี่ปุ่น ไม่น้อยกว่า 200 คน ส่วนใหญ่อยู่ใน 2 อำเภอ และที่สำคัญ มีอยู่หมู่บ้านหนึ่ง เป็นเชฟกันแทบทุกหลังคาเรือน จะเรียกว่า "หมู่บ้านเชฟอาหารญี่ปุ่น" ก็ไม่ผิดนัก
นายกิตติศักดิ์ ลีล้อม หรือ "เชฟหนุ่ม" Head Chef ร้านโอชิเน สาขาอุบลราชธานี กล่าวกับไกด์อุบลว่า ร้านโอชิเน อุบลฯ มีเชฟเป็นคนอุบลถึง 90% และปัจจุบัน ร้านโอชิเนทุกสาขา ส่วนใหญ่ก็มีเชฟเป็นคนอุบล คาดว่า มีคนอุบลที่ประกอบอาชีพเป็นเชฟอาหารญี่ปุ่นไม่น้อยกว่า 200 คน กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยมากจะมาจาก 2 อำเภอ คือ อำเภอม่วงสามสิบ และอำเภอเดชอุดม เฉพาะที่บ้านหนองช้างใหญ่ อำเภอม่วงสามสิบ ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของเชฟหนุ่ม แทบทุกหลังคาเรือนจะต้องมีคนทำอาชีพเชฟอย่างแน่นอน
แม้ว่าจะมีคนอุบลประกอบอาชีพเชฟอาหารญี่ปุ่นมากมาย แต่เส้นทางของการเป็นเชฟ ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เชฟหนุ่ม เล่าถึงความเป็นมาของการเข้าสู่อาชีพเชฟว่า ย้อนหลังไปประมาณ 40 ปี มีคนในหมู่บ้านหนองช้างใหญ่ อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี ไปประกอบอาชีพเป็น เชฟอาหารญี่ปุ่น อยู่ที่กรุงเทพฯ มีรายได้ดีมาก จึงกลับมาชักชวนคนในหมู่บ้านให้ไปช่วยงาน และฝึกการทำอาหารญี่ปุ่นไปในตัว เมื่อร้านอาหารญี่ปุ่นได้รับความนิยมมากขึ้น ความต้องการเชฟ จึงเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว กระทั่งมีคนมาชวนเชฟหนุ่มไปทำงานเมื่อสิบปีที่ผ่านมา
เส้นทางอาชีพเชฟของ "เชฟหนุ่ม" นายกิตติศักดิ์ ลีล้อม ก็เหมือนกับหลายๆ คนในหมู่บ้าน เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้ว พี่สาวชักชวนให้ไปทำงานที่ร้านอาหารญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ แถวๆ ซอยสุขุมวิท 11 โดยทำหน้าที่เป็นเด็กในครัว ล้างจาน ล้างผัก เตรียมวัตถุดิบให้เชฟ เป็นเวลาประมาณ 1 ปี
เมื่อรู้สึกว่าตนเองรักในอาชีพเชฟ จึงออกแสวงหาความรู้เพิ่มเติม โดยไปทำงานที่ร้านอาหารญี่ปุ่นอีกแห่ง ซึ่งทราบว่า เชฟที่นี่เป็นชาวญี่ปุ่น ทำเส้นโซบะเก่งมาก ทำงานฝึกฝนอยู่ร้านนี้อีกเป็นเวลาร่วม 2 ปี หลังจากนั้นก็มีคนชวนไปเป็นรองหัวหน้าเชฟ ร้านอาหารญี่ปุ่น ในห้างสรรพสินค้าพารากอน 2 ปี และร้านฮอนโนโน ของเชฟบุญธรรม "เชฟกระทะเหล็ก" อีก 1 ปี
ชีวิตของเชฟหนุ่ม กำลังราบรื่นกับงานที่ทำ แต่ก็ต้องพบกับความตื่นเต้นอีกครั้ง เมื่อพี่สาวที่อยู่ประเทศอเมริกา ชักชวนให้ไปเป็นเชฟร้านอาหารญี่ปุ่น ประเทศอเมริกา ที่นั่น เชฟหนุ่มมีโอกาสวาดลวดลายโชว์ฝีมือการทำอาหารในตำแหน่ง "เทปันยากิ" (ใช้กระทะเหล็กแบนในการประกอบอาหารต่อหน้าลูกค้า มีการโชว์ลวดลายสร้างสีสันด้วย) ทำอยู่ 2 ปี ก็ได้รับการติดต่อจากเชฟบุญธรรมอีกครั้ง
เชฟบุญธรรม ภาคโพธิ์ "เชฟกระทะเหล็ก" หลังจากทำร้านอาหารญี่ปุ่นที่กรุงเทพจนโด่งดังแล้ว ก็อยากมาเปิดร้านอาหารที่บ้านเกิด คือ จังหวัดอุบลราชธานี (เชฟบุญธรรมเป็นชาว อ.เขมราฐ) จึงได้ติดต่อให้เชฟหนุ่ม กลับมาดูแลร้านอาหารเปิดใหม่ที่ตนร่วมทุนกับนักธุรกิจชาวอุบลฯ เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นในนาม "ร้านโอชิน"
นายกิตติศักดิ์ ลีล้อม "เชฟหนุ่ม" บริหารงานร้านโอชินได้เพียง 2 ปี ประสบความสำเร็จอย่างมาก จนมีการขยายสาขาไปอีกหลายจังหวัด ภายใต้ชื่อ "ร้านโอชิเน" เช่น อุดรธานี นครราชสีมา ขอนแก่น มุกดาหาร และกำลังจะเปิดในเร็วๆ นี้ที่จังหวัดเชียงราย โดยมีเชฟหนุ่มเป็นกำลังหลักสำคัญดูแลร้านโอชิเนทุกสาขา
ภายหลังรายการมาสเตอร์เชฟประเทศไทยออกอากาศเมื่อปีที่แล้ว มีคนสนใจมาสมัครตำแหน่งเชฟมากมาย แต่เชฟหนุ่มบอกว่า ทุกคนที่มาสมัครหากไม่มีประสบการณ์ก็ต้องผ่านการฝึกฝนตามลำดับขั้นตอน เริ่มจาก การล้างเครื่องมือทำอาหาร ล้างผัก หั่นผัก เตรียมวัตถุดิบ ประมาณ 2-3 เดือน เมื่อผ่านแล้ว จะได้ไปอยู่แผนกแล่ปลา ขึ้นชิ้นปลา หุงข้าว และทำซูชิ หรือข้าวห่อสาหร่าย กว่าจะได้เป็นเชฟเต็มตัว อยู่หน้าร้านได้ อาจต้องใช้เวลาถึง 1-2 ปี
นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่จังหวัดอุบลราชธานีมีผู้ประกอบอาชีพ เชฟอาหารญี่ปุ่น มากมายหลายร้อยคน หากมีการส่งเสริม หรือจัดหลักสูตรให้เป็นกิจลักษณะ เชื่อว่า อุบลจะมีสินค้าส่งออกอีกอย่างหนึ่ง คือ เชฟ หรือคนทำอาหารนั่นเอง และระหว่างนี้ หากใครสนใจจะเป็นเชฟ ลองติดต่อร้านโอชิเนได้ทุกสาขา ทั่วประเทศ
เรียบเรียงโดย ไกด์อุบล