จากคนกรุง มุ่งสู่เกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง สร้างบ้านป่าลำโดมใหญ่
“ผมไม่ใช่คนฉลาด แต่ผมมีตัวอย่างที่ดี ตัวอย่างที่ดีในการทำเกษตรอินทรีย์คือในหลวง” อ.ชุมพล เวชสิทธิ์ อดีตข้าราชการครู โรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์ จ.นนทบุรี จบคณะศึกษาศาสตร์ จากมหาวิทยาเกษตรศาสตร์ ข้อคิดที่ตกผลึกของคุณครูวัยเกษียณอายุ 72 ปี ที่กล่าวให้เราฟังด้วยรอยยิ้มที่สดชื่นท่ามกลางร่มไม้ในป่าใหญ่ ที่ใครได้เข้ามาสัมผัสจะพูดเหมือนกันว่า ยังมีสถานที่แบบนี้ใกล้โรงงานด้วยหรือ
ตอนแรกทีมงานตั้งใจสัมภาษณ์ อ.ชุมพล เวชสิทธิ์ ด้วยเรื่องแนวทางเกษตรอินทรีย์ แต่ก็ต้องประหลาดใจ และตื้นตันใจเมื่อได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อ.ชุมพล ยังได้มีโอกาสเข้าเฝ้า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 อย่างใกล้ชิดหลายครั้ง เมื่อครั้งยังเล่นดนตรีอยู่วง KU BAND ของมหาวิทยาลัยเกษตรด้วย
อ.ชุมพล เริ่มเล่าให้เราฟังด้วยน้ำเสียงเรียบง่าย ดูใจเย็น ถึงหนทางจากชีวิตที่เพียบพร้อมในเมืองหลวง เดินทางมาด้วยแรงศรัทธา วิถีการเกษตรแบบพอเพียง แรงบันดาลใจที่ได้จาก พ่อหลวง ร.9 ว่า
“ ตอนสมัยเรียนช่วงปี 2514 – 2516 ผมเป็นนักดนตรีที่ KU BAND เล่นกีตาร์เบส นึกย้อนกลับไปเสมอๆ ผมว่าผมโชคดีที่รู้สึกได้ใกล้ชิดสม่ำเสมอ ไม่ได้เล่นร่วมวงกับท่านนะ แต่เวลาที่วงผมไปเล่นเพื่อถ่ายทอดออกอากาศสถานีวิทยุ อ.ส. เราทุกคนในวงจะคุ้นเวลาเสมอว่า พวกเราเล่นจบก็จะถึงเวลาที่วงของในหลวงจะมาเล่นต่อ ช่วงเวลาพิเศษทุกครั้ง คือ หลังจากที่วงผมเล่นเสร็จ จะมีจุดพักที่ให้นักดนตรีมาทานข้าวเย็น มีขนมใส่ไส้ ข้าวหม้อแกงหม้อ ทานเสร็จพวกเราก็จะมาตั้งแถว ยืนรับเสด็จฯ เพื่อดูท่านทรงเล่นดนตรีต่อ ทั้งตื่นเต้นและติดตามช่วงเวลาดีๆ แบบนี้ติดต่อกัน จนทุกวันนี้ ผมรู้สึกซึมซับพระราชดำริของพระองค์ทุกเรื่อง ท่านทรงทำให้เราเห็น ทั้งดนตรีที่ทรงซ้อมหนัก และเล่นไพเราะมาก สนุกมาก จนเรารู้สึกศรัทธา แบบภาษาวัยรุ่นคือไอดอลเลย
จากชีวิตท่ามกลางบทเพลง ถ่ายทอดสู่บทเรียนในชีวิต อ.ชุมพล เริ่มสังเกตถึงการใช้ชีวิตรอบข้างๆ เราเห็นเพื่อนๆ ที่เรียนจบเกษตรหลายคนหันไปขายเคมี ขายปุ๋ยมาก ส่วนตัวคือไม่ชอบเคมีอยู่แล้ว ลองคิดดูว่า พวกนี้เริ่มมานาน มันทำลายสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในดินไปมากมาย ที่เรียกจุลินทรีย์ เราพบคำว่า ดินแข็งๆ มานาน ลองนึกย้อนดีๆ ปัญหานี้เกิดจากอะไร คงไม่ต้องบอกกันมาก เป็นเพราะอดีตจนปัจจุบัน เราหลงทางหรือเปล่า
ในหลวงมีพระราชดำริมากกมายหลายโครงการ โดยเฉพาะเรื่องเกษตร ท่านทรงทำวิถีอินทรีย์มานาน และถ่ายทอดให้เกษตรกรไทยเรามานานแล้ว ท่านสอนให้เราพอเพียง ความพอเพียงของท่านคือมีสตินะในความคิดผม เมื่อมีแล้วสติจะทำให้คำว่าพอเพียง มีความหมายว่า มั่งคั่ง ยั่งยืน เพราะความมั่นคั่งที่แท้จริงคือดิน ไม่ใช่ซื้ออะไรๆ มาใส่ให้พืชแล้วผลผลิตจะดีมันดีทันตา แต่ไม่ยั่งยืน ดั้งนั้น ทุกอย่างในหลวงท่านบอกเราไว้หมดแล้ว ดินคือทุกอย่าง ต้องบำรุงรักษาสิ่งนี้ไว้ โดยเฉพาะถ้าเราทำการเกษตร และประเทศไทยคือการเกษตร สำคัญจริงๆ
จนมาปี พ.ศ.2537 ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่การค้นพบเส้นทางใหม่ คือเราจะอยู่เฉยๆ แบบเห็นวงการเคมีทำลายระบบการเกษตรบ้านเราไปไม่ได้ คิดแล้วต้องทำด้วย จึงตัดสินใจบอกภริยาว่า อยากย้ายไปต่างจังหวัด ไปหาที่ทำเกษตรกัน ก็ไปหาหลายภาค จนมาเจอที่ภาคอีสาน ผนวกกับภริยาเป็นคนอุบลพอดี มาเจอที่ติดน้ำลำโดมใหญ่ ตัดสินใจแบบไม่ลังเลเลย พร้อมปักป้ายไว้ก่อนเพื่อแสดงเจตนารมย์คือ “บ้านป่าลำโดมใหญ่ ตามแนวพระราชดำริ” เป็นพื้นที่ป่าผืนเดียวกันรวม 100 ไร่ ก็ตั้งใจตั้งหลักว่า หลังเกษียณจะต้องทำการเกษตรตามแนวพระราชดำริให้ได้
ก่อนเกษียณ ก็มาเป็นคุณครูสอนพละ และบริหารอยู่ที่โรงเรียนนาเยียศึกษา รัชมังคลาภิเษก อ.นาเยีย ชอบมาก ชีวิตที่จากวิวรถเต็มถนน มาเป็นต้นไม้ ทุ่งนาเขียวขจี ขับรถไปถนนทางเกวียนอยู่เลยสมัยนั้น จากรถสีขาวเป็นรถสีแดงเลย ช่วงเป็นคุณครูก็ทำจนเกษียณ สภาพแวดล้อมก็เจริญขึ้น บ้านเราก็ห่างจากความเจริญไม่ถึง 1 กม. ก็มีโรงานแป้งมันมาตั้ง ชุมชนสังคมก็เปลี่ยนไปมาก เดิมที่ตรงนี้เป็นทางตัน ตอนนี้กลับเป็นเส้นทางที่ความเจริญวิ่งเข้ามาเราก็ต้องปรับตัว
เริ่มมีชาวบ้านมาขอเช่าที่เพื่อปลูกมัน เราก็เริ่มเห็นว่าเป็นอาชีพใกล้ๆ บ้านก็ให้เช่าส่วนหนึ่ง รวมทั้งเราก็เริ่มวางแผนหารายได้หลังเกษียณ ก็ใช้พื้นที่ประมาณ 20 ไร่ จัดสัดส่วนที่ดินมาทำกิน คือปลูกกล้วย ปลูกผัก ปลูกมัน ปลูกทุกอย่างที่ขายได้ กินได้ ที่สำคัญทุกอย่างไม่ใช้สารเคมี เราทำปุ๋ยหมักใช้เอง ปัจจุบันดินของเราอุดมสมบูรณ์ ยังมีจุลินทรีย์มากมายที่ทำให้ระบบนิเวศดีอยู่ รวมทั้งป่าของเราที่รักษาไว้ให้ลูกๆ อนุรักษ์ต่ออีก 80 ไร่
ปัจจุบัน อ.ชุมพล ใช้ชีวิตอยู่กับ อ.ชวนพิศ เวชสิทธิ์ ที่บ้านป่าลำโดมใหญ่แห่งนี้ หมู่ 9 บ้านหนองแปน ตำบลนาดี อำเภอนาเยีย จ.อุบลราชธานี มีลูกชายและลูกสาว 2 คน ทีมงานทุกคนสัมผัสพลังของสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง และเปี่ยมล้นที่อยากเล่าเรื่องราวดีให้พวกเราฟัง บางช่วงเวลา นอกเหนือจากทำเกษตร และขับรถเข้าเมืองเพื่อไปขายผลผลิตให้กับร้านค้าขาประจำแล้ว ก็จะเปิดบ้านให้เยาวชนหรือหน่วยงานที่สนใจ มาศึกษาระบบนิเวศที่ครบที่สุด ณ บ้านป่าลำโดมใหญ่แห่งนี้
ขอขอบพระคุณทั้งสองท่านที่ต้อนรับพวกเราอย่างอบอุ่นด้วยผลไม้สดๆ ในสวน สิ่งที่สำคัญจากการสัมภาษณ์พูดคุยทำให้พวกเราได้ข้อคิดถึงพลังศรัทธาเกษตรวิถีอินทรีย์ สู่การลงมือทำจริง ซึ่งการเกษตรอินทรีย์ของท่านทั้งสอง คือการเกษตรยั่งยืน มีใช้ ขายได้ แบ่งปัน รักษาระบบนิเวศให้อยู่คู่กับแผ่นดินไทย ลองมาคิดเล่นๆ หากเกษตรกรไทยใส่ใจในต้นทุน คือดิน แบบนี้รับรองว่าอีกไม่กี่ปี ประเทศไทยจะมีแต่ทองที่อยู่ในดินตราบชั่วลูกชั่วหลานตลอดไป
ขอบคุณข้อมูลจาก คณะทำงานโครงการส่งเสริมเกษตรกรต้นแบบมันสำปะหลังอินทรีย์ จากกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล