เซียนมวยอุบลฯ เข้าข่ายต้องสงสัย แต่ไม่ใช่ผู้ป่วยยืนยัน COVID-19
วันที่ 17 มีนาคม 2563 นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย นพ.สุวิทย์ โรจนศักดิ์โสธร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี และ นายแพทย์มนต์ชัย วิวัฒนาสิทธิพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี ร่วมกันแถลงข่าว กรณีมีข่าวพบผู้ป่วยชาวอุบลฯ เข้าข่ายโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากเวทีมวยที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา
สำหรับกรณีดังกล่าว มีข้อเท็จจริงว่า เซียนมวยชาวอุบลฯ ทำงานที่สนามมวยลุมพินีและเวทีมวยราชดำเนิน เดินทางกลับจังหวัดอุบลราชธานี โดยสายการบินหนึ่ง ในเย็นวันที่ 8 มีนาคม 2563 ต่อมา คืนวันที่ 9 มีนาคม ได้เข้ามาเที่ยวที่สถานบันเทิง 2 แห่ง ในตัวอำเภอเมืองอุบลราชธานี พร้อมทั้งเข้าพักที่โรงแรมในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี
บ่ายวันที่ 10 มีนาคม ผู้ป่วยเริ่มมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ตามตัว ได้ขับรถกลับบ้านในพื้นที่อำเภอที่อาศัย และแวะตรวจร่างกายที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน คืนวันที่ 11 มีนาคม ผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้น จึงขับรถมาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แพทย์รับไว้เป็นผู้ป่วยใน จนถึงวันที่ 13 มีนาคม แต่เนื่องจากประวัติของผู้ป่วยไม่ตรงตามนิยามของกรมควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี จึงไม่ได้รับรหัส เพื่อส่งตรวจจากส่วนกลาง
ในวันถัดมา หลังจากที่ทราบข่าวการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในผู้ร่วมกิจกรรมที่สนามมวยลุมพินี จึงได้ติดตามผู้ป่วยกลับมารับการรักษาทันที พร้อมขอรหัสจากกรมควบคุมโรค และเก็บตัวอย่างส่งตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 อุบลราชธานี ทั้งนี้ มาตรฐานของกรมควบคุมโรค ผู้ป่วยยืนยัน โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะต้องมีผลตรวจยืนยัน 2 แห่ง คือที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 อุบลราชธานี และสถาบันโรคติดเชื้ออุบัติใหม่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หรือสถาบันบำราศนราดูร
จากการส่งตัวอย่างเพื่อยืนยัน ที่สถาบันโรคติดเชื้ออุบัติใหม่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แห่งที่ 2 ผลตรวจไม่พบเชื้อ ซึ่งต้องรอผลเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการซ้ำต่อไป จึงหมายความว่าผู้ป่วยรายนี้เป็นผู้ป่วยที่เข้าข่ายสงสัย แต่ยังไม่ใช่ผู้ป่วยยืนยัน
อย่างไรก็ตาม จังหวัดอุบลราชธานีได้ลงติดตามค้นหาผู้สัมผัส ( ตั้งแต่วันที่ผู้ป่วยเข้าข่ายสอบสวนโรคทันที ) อาทิ เช่น ผู้สัมผัสร่วมบ้าน ผู้โดยสารสายการบินเดียวกัน คนขับรถแท็กซี่ เจ้าหน้าที่ที่สถานพยาบาล พนักงานสถานบันเทิงทั้ง 2 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งแยกเป็นผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงสูง จำนวน 79 ราย และผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงต่ำ จำนวน 651 ราย ซึ่งจะได้ติดตามผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ทั้ง 79 ราย เข้ามารับการเก็บตัวอย่างส่งตรวจ โดยได้เก็บตัวอย่างไปแล้ว 21 ราย รอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
หลังจากนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี ได้ดำเนินการทำความสะอาดในพื้นที่ที่ผู้ป่วยเดินทางไป จัดทีมออกให้ความรู้ ด้านการปฏิบัติตน ในการ เฝ้าระวังตนเอง ผู้สัมผัสให้แยกตัวเพื่อสังเกตอาการ 14 วัน การทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ก่อน ขณะ และหลังเปิดให้บริการ การคัดกรองผู้เข้าใช้บริการ ตลอดจนการตั้งจุดแอลกอฮอล์เจล
ทั้งนี้ จังหวัดอุบลราชธานีจะได้ทำการเฝ้าระวัง สอบสวน และควบคุมโรคอย่างเข้มข้นต่อไป