guideubon

 

โครงการรถไฟทางคู่อีสานใต้ ชุมทางจิระ-อุบลฯ ผ่าน EIA แล้ว

รถไฟทางคู่-อีสานใต้-จิระ-อุบล-01.jpg

วันที่ 20 กรกฎาคม 2563 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ครั้งที่ 4/2563 ผ่านระบบวีดีทัศน์ทางไกล (Video Conference) โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมประชุม

ที่ประชุม ได้พิจารณาโครงการที่สำคัญเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยผ่านความเห็นชอบ จาก กก.วล. แล้ว ได้แก่ โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จาก FSRU ไปยังโรงไฟฟ้าพระนครใต้ , โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ชุมทาง ถนนจิระ (นครราชสีมา)-อุบลราชธานี, โครงการ ถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา, โครงการ ปรับปรุงท่าอากาศยานตรัง, การขยายเวลาการบังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษ จากรถยนต์ใหม่ให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร 5 และ ยูโร 6 และการปรับปรุงมาตรฐานระดับเสียงของรถจักรยานยนต์

พล.อ.ประวิตร ได้กำชับ กก.วล. ให้กำกับ ติดตามโครงการต่างๆ ที่ผ่านความเห็นชอบแล้ว พร้อมเร่งรัดให้กระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบ นำเสนอโครงการตามขั้นตอน อย่างเร่งด่วนเพื่อให้โครงการ บรรลุผลสัมฤทธิ์ เป็นรูปธรรม มุ่งลดผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม ได้รับความพึงพอใจและประโยชน์โดยตรง เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของชาติ และนำไปสู่การพัฒนาประเทศ อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ต่อไป 

รถไฟทางคู่-อีสานใต้-จิระ-อุบล-02.jpg

สำหรับ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้มีการนำเสนอผลสรุปแนวเส้นทางโครงการ จากสถานีชุมทางถนนจิระ- อุบลราชธานี มีระยะทางรวมประมาณ 307 กิโลเมตร แนวเส้นทางรถไฟจะก่อสร้างคู่ขนานกับทางรถไฟเดิม ประกอบด้วย 34 สถานี (ไม่รวมสถานีชุมทางถนนจิระ) 

จุดตัดทางรถไฟ จำนวน 131 จุด มีแนวทางแก้ 4 รูปแบบ ได้แก่ 1. ถนนยกระดับข้ามทางรถไฟในแนวตรง 2. ถนนยกระดับข้ามทางรถไฟในรูปตัวยู 3. ท่อเหลี่ยมลอดใต้ทางรถไฟ 4. ยกระดับทางรถไฟ และก่อสร้างรั้วกั้นตลอดแนวเขตทางรถไฟ เพื่อความปลอดภัยของคนหรือสัตว์ในการข้ามทางรถไฟและความปลอดภัยของการเดินรถไฟ 

เมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะสามารถลดระยะเวลาเดินทางจาก นครราชสีมา-อุบลราชธานี จากเดิม 5 ชม. 30 นาที เป็น 3 ชม. 15 นาที ช่วยเพิ่มศักยภาพการเดินทาง และการขนส่งสินค้าด้านอุตสาหกรรมการเกษตรและด้านเกษตรอินทรีย์ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถกระจายรายได้สู่ประชาชนในท้องถิ่นเพิ่มขึ้นอีกด้วย

รถไฟทางคู่-อีสานใต้-จิระ-อุบล-03.jpg

รถไฟทางคู่-อีสานใต้-จิระ-อุบล-04.jpg