ม.อุบลฯ สอน นร. ม.4 ทำ e-Portfolio ใช้สมัครเรียนในระบบ TCAS
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ลงพื้นที่ให้บริการวิชาการโรงเรียนเครือข่าย สนองนโยบายรัฐ “Thailand 4.0” ให้แก่โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช ร่วมกับเครือข่ายผู้ปกครองนักเรียนสายชั้น ม. 4/2560 ร่วมกับงานแนะแนวโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จัดโครงการบรรยายเชิงปฏิบัติการวิชาการ หัวข้อ “การรับฟังข้อมูลเพื่อเตรียมความพร้อมในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา : การจัดทำ e-Portfolio” โดยมี
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์สืบพงศ์ หงส์ภักดี รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ หัวข้อ “คุณลักษณะอันพึงประสงค์ บุคลิกภาพดีมีชัยไปกว่าครึ่ง” เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 4 เพื่อเตรียมเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้วยความมั่นใจ
- นางวิชชุดา มงคล หัวหน้างานรับเข้าศึกษา กองบริการการศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ หัวข้อ “การเตรียมความพร้อมสมัครคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลาง Thai University Central Admission System (TCAS)” เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับระบบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ให้แก่นักเรียนที่ประสงค์จะเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยต่อไป
- ดร.สมปอง เวฬุวนาธร อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ นายธวัชชัย สลางสิงห์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ หัวข้อ “การจัดทำ e-Portfolio ด้วยแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน” ให้แก่นักเรียนระดับสายสายชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 700 คน ณ ห้องประชุมเบญจานุสรณ์ โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช
ดร.สมปอง เวฬุวนาธร อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ยินดีที่ได้เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษใน หัวข้อ “การจัดทำ e-Portfolio ด้วยแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน” เกี่ยวกับการใช้แอปพลิเคชั่นอะไร? ในการสร้าง e-Portfolio เป็นส่วนหนึ่งของการประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยี เพื่อสนองนโยบายรัฐ “Thailand 4.0” ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่เตรียมพร้อมเข้าสู่ระบบกลาง (TCAS)
เนื่องจาก e-Portfolio เป็นแฟ้มสะสมผลงานอิเล็กทรอนิกส์ ที่จัดเก็บข้อมูล รูปภาพ ใช้งานง่าย สะดวกในการจัดเก็บ ตลอดจนการจัดการเอกสารต่างๆ สร้างความสะดวกสบายสำหรับผู้ใช้งาน ไม่ต้องลำบากจัดหาหรือซื้อแฟ้มจัดเก็บเอกสาร การเก็บรักษาที่ยุ่งยากเสี่ยงต่อการชำรุดเสียหาย ผู้ตรวจก็สามารถตรวจแฟ้มสะสมผลงานหรือหลักฐานต่างๆ ผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้
การจัดทำ e-Portfolio ทำได้โดยการดาวน์โหลดและติดตั้งแอปพลิเคชันประเภท Scanner เช่น Can Scanner, Clear Scanner, Simple Scan, Office Lens เป็นต้น จาก Google Play Store (สำหรับเครื่องสมาร์ทโฟนที่เป็นระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์) หรือ Apple App Store (สำหรับเครื่องสมาร์ทโฟนที่เป็นระบบปฏิบัติการไอโอเอส) ไว้ในเครื่องสมาร์ทโฟน ซึ่งโปรแกรมดังกล่าวสามารถสร้าง e-Portfolio ได้โดยการถ่ายภาพผลงานผ่านตัวแอปพลิเคชั่นเอง หรือ สามารถนำภาพถ่ายผลงานที่มีอยู่ในสมาร์ทโฟนมาปรับแต่งให้อยู่ในรูปแบบของ e-Portfolio ได้อย่างง่ายดายเพียงไม่กี่นาที โดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องคอมพิวเตอร์และเครื่อง Scanner ซึ่งจะทำให้นักเรียนสามารถสะสมผลงานไว้ใน e-Portfolio เพื่อนำไปใช้ในการสมัครเรียนในระบบ TCAS ได้ โดยเฉพาะรอบที่ 1
นอกจากนี้ e-Portfolio ยังสามารถออกแบบให้สวยงาม และน่าสนใจได้ไม่ยากไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เช่นเดียวกัน เนื่องจากปัจจุบันมีแอปพลิเคชันที่สามารถช่วยในการออกแบบ ทั้งในสมาร์ทโฟนที่เป็นระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์และไอโอเอส เช่น PicsArt, Snapseed, Adobe Photoshop เป็นต้น นักเรียนสามารถดาวน์และติดตั้งมาใช้งานบนสมาร์ทโฟนได้เลยเช่นกัน
ทิพย์วรรณ เวฬุวนาธร นักประชาสัมพันธ์ ชำนาญการ ม.อุบลฯ ภาพ/ข่าว